xs
xsm
sm
md
lg

“บล.ทรีนีตี้” หวั่นภาวะเงินเฟ้อต่ำกดดันการบริโภค-การลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด
บล. ทรีนีตี้ ส่องหุ้นประจำเดือนกรกฎาคม ยังแกว่งตัวกรอบ 1,540-1,600 จุด ห่วงภาวะเงินเฟ้อต่ำกดดันการบริโภค-การลงทุน หลังกระทรวงพาณิชย์ปรับเป้าเงินเฟ้อปีนี้ลดลงเหลือ 0.7-1.7% แนะลงทุนหุ้นที่มีฐานรายได้สม่ำเสมอ และกลุ่มอุปโภคบริโภคจำเป็น ได้แก่ สาธารณูปโภค-ร้านสะดวกซื้อ-การแพทย์ นอกจากนั้น ประเมินราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน สะท้อนข่าวร้ายไปพอสมควรแล้ว ยก BCPG, WHAUP, CPALL, BJC, BCH, CHG, PTT, PTTEP, BCP, SPRC, TOP น่าลงทุน

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในเดือนกรกฎาคมนี้ จะยังคงแกว่งตัวออกข้าง (Sideways) ต่อไปในกรอบ 1,540-1,600 จุด เนื่องจากยังไม่เห็นปัจจัยที่มีแนวโน้มผลักดันดัชนีไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งอย่างชัดเจน โดยขาขึ้นยังคงจำกัดจาก Valuation ของตลาดที่ทรงตัวในระดับสูง ส่วนความเสี่ยงขาลงยังคงจำกัดจากทิศทางฟันด์โฟลว์ที่ยังไม่เห็นสัญญาณไหลออก แนะนำกลยุทธ์ขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบแนวต้านแนวรับดังกล่าว

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ การปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปปี 2560 ของกระทรวงพาณิชย์ ลงมาอยู่ที่ 0.7-1.7% จากเดิมคาด 1.5-2.2% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประเทศไทยอยู่ในช่วงความเสี่ยงเงินเฟ้อต่ำอย่างแท้จริง (Disinflation) ซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจมาตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อต่ำนี้จะยิ่งทำให้ประชาชนชะลอการใช้จ่ายของตนเองในปัจจุบัน รวมไปถึงภาคธุรกิจที่อาจจะชะลอแผนการลงทุนในอนาคต บ่งชี้ว่า ภาคอุปสงค์ในประเทศของไทยอาจยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแออีกสักระยะ

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศ ต้องติดตามรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐฯ (FOMC Minutes) รอบเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งจะออกมาช่วงดึกคืนวันที่ 5 กรกฎาคมตามเวลาบ้านเรา และการลงมติร่างกฎหมายประกันสุขภาพฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นหลังวันชาติสหรัฐฯ 4 กรกฎาคม หลังจากที่ได้มีการเลื่อนมาก่อนหน้านี้ หากการลงมติไม่สำเร็จ หรือมีความล่าช้าเกิดขึ้นอีก อาจจะทำให้การผลักดันกฎหมายอื่น ๆ ที่มีความสำคัญกว่า เช่น การปฏิรูปภาษี และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเลื่อนออกไปจากไตรมาส 3 นี้ ซึ่งอาจเป็นผลดีต่อตลาดเกิดใหม่ที่ยังได้รับอานิสงค์จากฟันด์โฟลว์ต่อไป

สำหรับกลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นกลุ่มที่มีรายได้สม่ำเสมอ และไม่พึ่งพิงภาวะเศรษฐกิจมากนัก อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utility) ที่ยังคงเป็นหลุมหลบภัยในภาวะนี้ได้ต่อไป เนื่องจากมีความผันผวนต่ำ และสามารถจ่ายเงินปันผลได้ในระดับสูง

“กลุ่มสาธารณูปโภค นับเป็น Top pick ของเรามาตั้งแต่เดือนที่แล้ว ซึ่งล่าสุด ดัชนี Utility Index ที่เราจัดทำขึ้นมา สามารถปรับตัวได้ดีกว่าตลาด (Outperform) เป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกันแล้ว”

โดยกลุ่มสาธารณูปโภคแนะนำลงทุน BCPG และ WHAUP จากแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถคาดหวังการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นได้ด้วย ส่วนหุ้นที่มีอัตราการจ่ายปันผล (Dividend Yield) ในระดับสูง และคาดว่าจะมีการจ่ายปันผลระหว่างกาล คือ GLOW, EGCO, RATCH เหมาะสำหรับนักลงทุนที่อยากรับเงินปันผลในระดับสูง ไม่เน้นการเคลื่อนไหวของราคา

นอกจากนั้น ยังสนใจกลุ่มสินค้า และบริการจำเป็น เช่น CPALL, BJC และกลุ่มการแพทย์ เช่น BCH, CHG ยังเป็นกลุ่มที่น่าจะแข็งแกร่งกว่าตลาด ในสภาวะที่การจับจ่ายใช้สอยยังคงตึงตัวอยู่เช่นนี้

ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มพลังงาน นับเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ ณ ขณะนี้ เนื่องจากยังคงประเมินเช่นเดิมว่า ราคาหุ้นในปัจจุบันยังคงปรับตัวช้ากว่าตลาด และราคาน้ำมันดิบปัจจุบัน มีความเสี่ยงขาลงที่จำกัด รวมถึงค่าการกลั่นล่าสุด ยังคงอยู่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของปีนี้ ส่วนประเด็นการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน (Stock loss) ของกลุ่มโรงกลั่น ที่เกิดขึ้นในไตรมาส 2/2560 มองว่า นักลงทุนได้รับรู้ไปพอสมควรแล้ว

โดยสำหรับกลุ่มพลังงานต้นน้ำ เลือก PTT และ PTTEP เป็นหุ้นแนะนำ ส่วนกลุ่มโรงกลั่นเลือก BCP, SPRC, TOP เนื่องจากยังคงมี Valuation และระดับเงินปันผลที่น่าสนใจ ประกอบกับคาดว่าจะมีการจ่ายปันผลระหว่างกาลอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น