ธอส. รับลูกรัฐบาลตั้งวงเงินกว่าหมื่นล้านบาท ปล่อยกู้โครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย ราคา 2.5-3 แสนบาทต่อยูนิต ดอกเบี้ยพิเศษไม่เกิน 3% พร้อมจับมือ 15 สมาคมต่อชมรมอสังหาฯ ปล่อยกู้โครงการพิเศษ 200 โครงการในต่างจังหวัดทั่วประเทศ มูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. พร้อมปล่อยสินเชื่อให้แก่โครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อยตามแนวคิดของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่จะออกมาในเร็ว ๆ นี้ เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ง่ายขึ้น
สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อผู้มีรายได้น้อย เบื้องต้นจะเป็นความร่วมมือของหน่วยงานรัฐ ได้แก่ กรมธนารักษ์, การเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์ โดยกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน เลือกที่ดินที่เหมาะสมทั่วประเทศ โดยให้การเคหะแห่งชาติเป็นผู้พัฒนาบ้าน ระดับราคา 2.5-3 แสนบาทต่อหลัง เนื่องจากที่ดินเช่าระยะยาว 30 ปี ทำให้ราคาต่อยูนิตถูกลงมาก
ส่วน ธอส. จะเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการซื้อบ้านในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ตามต้นทุนการเงินจริงของ ธอส. หรือประมาณ 3% ต่อปี ซึ่งปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยปกติของ ธอส. เฉลี่ย 3 ปีที่ 3.43% ต่อปี
“ธอส. พร้อมปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล โดยขณะนี้รอทางกรมธนารักษ์ ร่วมกับการเคหะฯ ออกแบบบ้านให้แล้วเสร็จ ซึ่งหากแล้วเสร็จ ธอส. ก็สามารถปล่อยสินเชื่อได้ทันที” นายฉัตรชัย กล่าว
ด้าน รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH รัฐบาลควรนำที่ดินแปลงใหญ่ของกรมธนารักษ์ ที่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้ามาพัฒนาบ้านเพื่อผู้มีรายได้น้อย โดยหนึ่งในแปลงที่มีศักยภาพ คือ ย่านเทพารักษ์ จำนวน 1,400 ไร่ ใกล้กับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งสามารถพัฒนาเป็นเมืองให้ผู้มีรายได้น้อยเช่าอยู่ พร้อมกับจัดหาบัตรรถไฟฟ้าในราคาค่าโดยสารที่ไม่สูงเกินกำลังของผู้มีรายได้น้อย เนื่องจากปัจจุบัน คนกลุ่มดังกล่าวถูกผลักให้อยู่นอกเมือง และอาจจะเกิดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูงขึ้น เพราะระบบรถไฟฟ้ามีผู้ให้บริการหลายรายจะมีค่าโดยสารสูง
ธอส.จับมือ 15 สมาคม และชมรมอสังหาฯ ปล่อยกู้ผู้ซื้อบ้าน
นายฉัตรชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ธอส. ได้ร่วมกับ 15 สมาคม/ชมรม ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ในต่างจังหวัด จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) โครงการสินเชื่อที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ซื้อบ้านจากโครงการของสมาชิกทั้ง 15 สมาคม และชมรมดังกล่าว จำนวน 200 โครงการ มูลค่า 30,000 ล้านบาท
สำหรับสินเชื่อที่ ธอส. จะปล่อยนั้น จะเป็นลักษณ์ผ่อนปรน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น รวมถึงการให้วงเงินกู้เพียงพอต่อการซื้อบ้าน แต่ยังคงอยู่ในกรอบของการพิจารณาสินเชื่อที่ไม่เกิดความเสี่ยง ส่วนอัตราดอกเบี้ยจะต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติของธนาคาร ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่ 3.4% ซึ่งธนาคารตั้งเป้าปล่อนสินเชื่อ 70% ของมูลค่าโครงการ 30,000 ล้านบาท เริ่มโครงการในวันที่ 1 ก.ค. นี้
สำหรับสิทธิพิเศษที่ลูกค้าจะได้รับ แบ่งเป็น 5 มาตรการหลัก ได้แก่ 1. สมาชิกของสมาคมจะจัดส่งโครงการจัดสรรที่อยู่อาศัยมาเข้าโครงการพิเศษของ ธอส. อาทิ โครงการประเภท Fast Track / Smart Fast Track / Regional Fast Track และ LTF ซึ่งลูกค้าจะได้รับประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายเรื่องการประเมินราคา เนื่องจากธนาคารกำหนดราคารับเป็นหลักประกันของที่อยู่อาศัยในโครงการล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อได้เช่นกัน
โครงการประเภทฟาสต์แทรค สมาร์ทฟาสต์แทรค เป็นต้น ซึ่งลูกค้าจะได้รับประโยชน์ลดค่าใช้จ่ายเรื่องการประเมินราคา เนื่องจากธนาคารกำหนดราคารับเป็นหลักประกันของที่อยู่อาศัยในโครงการล่วงหน้า ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาในการพิจารณาสินเชื่อได้เช่นกัน
2. สมาชิกของสมาคมจะจัดส่งลูกค้าภายใต้โครงการประเภทฟาสต์แทรค ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยจริงให้แก่ธนาคาร เพื่อพิจารณาสินเชื่อเบื้องต้น หรือพรีแอฟพรูว และยื่นกู้จริงไม่น้อยกว่า 70% ของจำนวนที่อยู่อาศัยทั้งหมดในแต่ละโครงการ 3. ธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่ทำการพรีแอฟพรูว ก่อนที่โครงการจะตัดสินใจขายให้แก่ลูกค้า
4. ธนาคารจะจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้แก่ลูกค้าในโครงการจัดสรรที่อยู่อาศัยด้วยเงื่อนไขพิเศษตามที่ธนาคารกำหนด และ 5. ธนาคารจะอำนวยความสะดวกให้บริการลูกค้านอกสถานที่ ตามที่ธนาคาร และสมาชิกของสมาคมได้ตกลงกัน
“โครงการนี้มีความสำคัญในเรื่องของการพรีแอฟพรูว เพราะที่ผ่านมา การปฏิเสธสินเชื่อ มักมาจากการไม่ได้ตรวจสอบก่อน แต่จากนี้ธนาคารจะลงพื้นที่เข้าไปตรวจสอบเองเลย ซึ่งมั่นใจว่า หลังการตรวจผ่านแล้ว จะซื้อบ้านได้จริงถึง 80-90% โดยโครงการดังกล่าว มองว่าจะเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลัง โดยในช่วงครึ่งปีแรก ธอส. ปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 40% ของวงเงินกู้ทั้งหมด 178,224 ล้านบาท”
สำหรับ 15 สมาคม และชมรมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าร่วมอยู่ตามหัวเมืองใหญ่ในทุกภูมิภาค ได้แก่ สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย, สมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์ระยอง, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ขอนแก่น, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ต, สมาคมอสังหาริมทรัพย์สงขลา, สมาคมอสังหาริมทรัพย์ชลบุรี, สมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา, สมาคมอสังหาริมทรัพย์พิษณุโลก, สมาคมอสังหาริมทรัพย์นนทบุรี, สมาคมอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่, สมาคมอสังหาริมทรัพย์อุดรธานี, ผู้แทนจังหวัดสระบุรี, ผู้แทนจังหวัดมุกดาหาร, ผู้แทนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และผู้แทนจังหวัดสระบุรี