xs
xsm
sm
md
lg

CK แจ้ง “บีบีซีดี” ชนะคดี กทพ. จ่าย 1,750 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK แจ้งผลการดำเนินการฟ้องคดีของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ทราบว่า เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ. ชำระเงินให้กับกิจการร่วมค้า บีบีซีดี จำนวน 1,750 ล้านบาท (ตามสัดส่วนของบริษัทฯ ที่มีในกิจการร่วมค้า) พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ว่าจ้างจะชำระหนี้ให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่องบการเงินของบริษัทฯ แต่ประการใด เนื่องจากกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้มีการบันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนไว้ตั้งแต่ปี 2549 แล้ว ขณะนี้กิจการร่วมค้า บีบีซีดี อยู่ในระหว่างการพิจารณาในการดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

“กิจการร่วมค้า บีบีซีดี” ประกอบด้วย 1. บิลฟิงเกอร์ เบอร์เกอร์ เอจี (สัดส่วนการร่วมค้า 40%)

2. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK (สัดส่วนการร่วมค้า 35%) และ 3. วัลเทอร์เบา เอจี (สัดส่วนการร่วมค้า 25%) ดำเนินการฟ้องเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามสัญญาจ้างเหมาออกแบบรวมก่อสร้างโครงการทางด่วนสายบางนา-บางพลี-บางปะกง ดังนี้

1. ในปี 2543 กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้เรียกร้องค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าจ้าง) ต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดให้ฝ่ายผู้ว่าจ้างจ่ายเงินค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นพร้อมดอกเบี้ยแก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี โดยกิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้บันทึกจำนวนเงินดังกล่าวเป็นสินทรัพย์ และรายได้ในงบการเงินสำหรับปี 2544 ซึ่งตามสัดส่วนของบริษัทฯ ที่มีในกิจการร่วมค้า คิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท

2. เนื่องจากความล่าช้าในการชำระค่าใช้จ่ายดังกล่าว กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าจ้างต่อศาลแพ่งเพื่อบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ และเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ โดยให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินแก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

3. เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลแพ่งที่บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในการให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จึงได้บันทึกค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเต็มจำนวนสำหรับลูกหนี้เงินชดเชยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าใช้จ่ายในกำไร หรือขาดทุนสุทธิสำหรับปี 2549 ซึ่งตามสัดส่วนของบริษัทฯ ที่มีในกิจการร่วมค้าคิดเป็นจำนวนเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท

4. เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ยื่นฟ้องผู้ว่าจ้างต่อศาลแพ่ง เพื่อเรียกร้องค่าใช้จ่ายที่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี ได้ใช้จ่ายไปคืนจากผู้ว่าจ้างในฐานลาภมิควรได้ รวมเป็นเงินค่าใช้จ่าย และดอกเบี้ยคำนวณจนถึงวันฟ้อง จำนวนเงินประมาณ 3,400 ล้านบาท (ตามสัดส่วนของบริษัทฯ ที่มีในกิจการร่วมค้า)

5. เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2554 ศาลแพ่งได้มีคำพิพากษาให้ผู้ว่าจ้างชำระเงินให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี จำนวน 1,750 ล้านบาท (ตามสัดส่วนของบริษัทฯ ที่มีในกิจการร่วมค้า) พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไป จนกว่าผู้ว่าจ้างจะชำระหนี้ให้แก่กิจการร่วมค้า บีบีซีดี เสร็จสิ้น

6. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2556 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษากลับให้ยกฟ้องของกิจการร่วมค้า บีบีซีดี

7. เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น