xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ ทิ้งหุ้นบ.ย่อย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ ขายหุ้น “ไทยไพร์ม อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด” หวังลดภาระค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าจัดทำบัญชี และค่าสอบบัญชี รวมทั้งปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงบการเงิน

บริษัท อุตสาหกรรม อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ EIC เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 21/2559 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2559 ได้มีมติให้ขายหุ้นบริษัท ไทยไพร์ม อินเวสท์เม้นท์ ลิมิเต็ด จำกัด หรือ TPIL จำนวน 2 หุ้น คิดเป็น 100% ของทุนจดทะเบียน และชำระแล้วของ TPILโดยมอบอำนาจให้ฝ่ายจัดการดำเนินการเจรจากับนักลงทุนที่สนใจลงทุนใน TPIL ในราคาที่สูงสุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากการประเมินมูลค่ากิจการทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ TPIL, GLS และ SEI แล้ว ทั้ง 3 บริษัทไม่มีมูลค่ากิจการเลย ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2559 บริษัทฯ ได้ตกลงจำหน่ายหุ้น TPIL จำนวน 2 หุ้น ในราคาเท่ากับมูลค่าที่ตราไว้ หุ้นละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ารวม 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72.30 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2559 : 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 36.15 บาท) ให้แก่บริษัท ไวด์ แอดวานซ์ จำกัด ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ และความเกี่ยวโยงกับบริษัทฯ หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ พร้อมจ่ายคืนหนี้แทน TPIL อีกจำนวน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน) ให้แก่บริษัทฯ

สืบเนื่องจากที่ บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท TPIL จำนวน 2 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ มูลค่ารวม 2 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 72.30 บาท (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2559 : 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 36.15 บาท) รวมทั้งให้เงินกู้ยืมระยะยาวแก่ TPIL ประมาณ 136.64 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนในธุรกิจกีฬาผ่านบริษัทร่วม ได้แก่ บริษัท สปอร์ต อีเว้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด หรือ SEI และ บริษัท โกลเบิล ลีเจินส์ เซอร์รี่ ลิมิเต็ด จำกัด หรือ GLS หากแต่การลงทุนในหุ้นดังกล่าวส่งผลต่องบการเงินของบริษัทฯ เนื่องจากผู้สอบบัญชีได้แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขมาโดยตลอด จากการที่ผลประกอบการที่เกิดขึ้นจริงของ GLS และ SEI เมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการแล้วมีความแตกต่างกัน จนเกิดการด้อยค่าเงินลงทุนทั้งจำนวน และตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับเงินให้กู้ยืมระยะยาว และดอกเบี้ยค้างรับทั้งจำนวน และเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งให้บริษัทฯ ต้องถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์กล่าวโทษ และเปรียบเทียบปรับเรื่อยมา

โดยประโยชน์ที่บริษัทฯ จะได้รับในการขาย TPIL ครั้งนี้ คือ การลดภาระค่าใช้จ่ายที่บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าจัดทำบัญชี และค่าสอบบัญชีแทนให้แก่ GLS และ SEI และเพื่อให้การจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ลดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการจัดทำงบการเงินรวมของบริษัทฯ ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวมีการตั้งด้อยค่าไปหมดแล้ว บริษัทฯ จะสามารถรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนจำนวนนี้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น