ทิสโก้จ่าย 5.5 พันล้าน ซื้อธุรกิจรายย่อยสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยยกเซ็ต มูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้าน เป็นสินทรัพย์ 4.1 หมื่นล้าน หนี้สิน 3.6 หมื่นล้าน ต่อยอดกลุ่มรายย่อย เผยช่วยดันพอร์ตสินเชื่อรวมเพิ่ม 15% คาดเสร็จสิ้นปีหน้า
นางอรนุช อภิศักดิ์ศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารทิสโก้ได้บรรลุข้อตกลงในการซื้อธุรกิจรายย่อยของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยทั้งหมด ซึ่งประกอบไปด้วย ธุรกิจบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อธุรกิจรายย่อย บริการธนบดีธนกิจ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ธุรกิจแบงก์แอชชัวรันส์ และเงินฝากรายย่อย โดยเป็นส่วนของทรัพย์สิน 41,600 ล้านบาท และหนี้สินประมาณ 36,100 ล้านบาท รวมทั้งรับโอนสาขา จำนวน 6 สาขา และพนักงานหลักร้อยคน และใช้เงินทุนในการซื้อธุรกิจดังกล่าวประมาณ 5,500 ล้านบาท โดยคาดว่า ขั้นตอนต่างๆ จะเสร็จสิ้นภายในปี 2560
ทั้งนี้ การซื้อธุรกิจดังกล่าวสอดคล้องยุทธศาสตร์ของธนาคารที่ต้องการขยายฐานลูกค้ารายย่อย ซึ่งจากจำนวนลูกค้าที่ได้รับโอนมา 400,000 รายนั้น เป็นส่วนของลูกค้าสินเชื่อ 300,000 ราย และลูกค้าธนบดี 100,000 ราย จะทำให้ธนาคารสามารถต่อยอดไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้อีกมาก โดยเฉพาะธุรกิจบัตรเครดิตจะให้บริษัทออล เวย์ส ดูแลหลังจากที่สแตนด์ชาร์ด รับจะช่วยบริหารก่อนในช่วง 1 ปีแรก
นางอรนุช กล่าวอีกว่า การขายธุรกิจของสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทยนั้น เป็นเรื่องของนโยบายทั่วโลก ไม่ใช่การขาย เพราะเป็นสินทรัพย์ไม่ดี โดยขั้นตอนต่อไปนั้น จะเป็นรายละเอียดของการรับโอนบัญชีต่างๆ ซึ่งก็คงใช้เวลาอยู่บ้าง เนื่องจากเป็นบัญชีลูกค้ารายย่อย จึงมีเป็นจำนวนมาก รวมถึงการทำความเข้าใจกับลูกค้าในการโยกย้ายบัญชี โดยพอร์ตของลูกค้าที่ซื้อมาก็ส่วนใหญ่แล้วก็จะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับลูกค้าของทิสโก้อยู่แล้ว และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าสินเชื่อบ้านประมาณ 60% ของพอร์ตรวม จึงไม่น่าจะมีปัญหา ส่วนที่เราจะซื้อพอร์ต หรือธุรกิจอีก หรือไม่นั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับโอกาส ความเหมาะสม และความพร้อมด้านเงินทุนที่ธนาคารมีอยู่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีเงินกองทุน BIS ถึง 19%
ส่วนดำเนินธุรกิจในปีนี้ยอดคงค้างสินเชื่อโดยรวมแล้วยังลดลงเล็กน้อย ขณะที่ในปีหน้าน่าจะอยู่ในระดับที่ทรงตัวได้ แต่เมื่อรวมกับพอร์ตสินเชื่อที่ซื้อมาแล้วจะขยายตัวได้ 15% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างสินเชื่อประมาณ 200,000 ล้านบาท หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 2.6% จากปัจจุบันที่ 2.9% จากการจัดชั้นลูกหนี้ SSI ที่ดีขึ้นจะมีผลต่อ NPL ประมาณ 0.3%
“ในปีหน้า แม้ยอดขายรถยนต์อาจจะกระเตื้องขึ้น แต่ก็ไม่น่าจะมากนัก คนที่หมดภาระจากรถคันแรกก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะซื้อรถใหม่เลย อาจจะต้องการพักสักระยะหนึ่ง เมื่อเทียบกับค่างวดผ่อนชำระที่ลดลงแล้วก็คงคาดว่า แค่ทรงตัว และเราเองก็ยังดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง แม้เศรษฐกิจจะดีขึ้นกว่าปีนี้”