SPCG จับมือเคียวซีร่า โชว์ระบบ SCADA สุดไฮเทค ศักยภาพประมวลผล และควบคุมแผงโซลาร์ฟาร์ม 36 โครงการ ใน 10 จังหวัด แบบ Real time เชื่อมโยงข้อมูลเต็มประสิทธิภาพครบรอบด้าน เสริมความแข็งแกร่งผู้นำเบอร์ 1 ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์แห่งอาเซียน
วันที่ 13 ธ.ค. 59 นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารเคียวเซร่า ร่วมพิธีเปิดห้องมอร์นิเตอร์ริ่ง รูม ซึ่งเป็นห้องประมวลผล และควบคุมโครงการโซลาร์ฟาร์มแบบ Real time ด้วยระบบ SCADA เชื่อมโยงข้อมูลการปฏิบัติการ และแสดงสภาวะอากาศตามเวลาจริงของโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 โครงการใน 10 จังหวัด ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) แห่งใหม่ซอยทองหล่อ 20 แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ โดยมี นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้บริหารสถาบันการเงินธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ร่วมแสดงความยินดี
ทั้งนี้ ซีอีโอ SPCG กล่าวว่า บริษัทได้รับเกียรติจากองค์กรสหประชาชาติ ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นตัวแทนภาคธุรกิจจากประเทศไทย ร่วมประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 โดยมีกว่า 195 ประเทศร่วมให้คำมั่นสัญญาในการที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศโลก มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส ภายในปี ค.ศ.2030 ซึ่ง SPCG ตระหนักถึงปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ไม่มีมลภาวะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์มากกว่า 200,000 ตันต่อปี อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นการลงทุนขนาดใหญ่ในภูมิภาค
อย่างไรก็ตาม ภายหลัง SPCG ได้หน้าพัฒนาโครงการจนครบ 36 โครงการพร้อมทั้งจัดตั้งบริษัท โซล่า เพาเวอร์ จำกัด หรือ (SPC) เป็นบริษัทพัฒนา และควบคุมทั้ง 36 โครงการ ยังมีบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ แอสเซ็ท จำกัด หรือ (SPA) พัฒนา และควบคุมโซลาร์ฟาร์มรวม 2 โครงการ ในจังหวัดลพบุรี พร้อมทั้งได้จัดตั้ง บริษัท โซล่า เพาเวอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด หรือ (SPE) เป็นผู้นำการให้บริการออกแบบทางวิศวกรรม และก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มแบบครบวงจร พร้อมด้วยทีมงานคุณภาพ มากประสบการณ์ และได้จัดตั้ง บริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ (SPR) ประกอบธุรกิจติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา หรือโซลาร์รูฟ
สำหรับ SPR เป็นโมเดลใหม่ ที่สามารถทำให้ประสบความสำเร็จได้ในประเทศไทย และในอาเซียน คาดว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพราะขณะนี้โซลาร์รูฟของบริษัทได้รับการยอมรับ และเชื่อถือจากประชาชนที่เป็นเจ้าของบ้าน โรงงานอุตสาหกรรม สถาบันการเงินที่มีชื่อเสียง บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่างหันมาติดโซลาร์รูฟกันมากขึ้น เพื่อต้องการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า และหลังจากติดโซลาร์รูฟของ SPR พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความพึงพอใจสูง และได้รับความไว้วางใจจากผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง