xs
xsm
sm
md
lg

คาดเม็ดเงินสะพัดในเทศกาลปีใหม่ไม่น้อยกว่า 28,500 ล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศุนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้แนวโน้มการใช้จ่ายของคนไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดสะพัดไม่น้อยกว่า 28,500 ล้านบาท ขยายตัวถึง 5.0% เทียบกับปีที่แล้ว แม่รัฐบาลขอความร่วมมืองดมหรสพ และงานรื่นเริง เพื่อแสดงความอาลัย แต่จะมีการปรับเปลี่ยนอีเวนต์ในลักษณะอื่นตามความเหมาะสม

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 คนกรุงจะมีเม็ดเงินเพื่อการจับจ่ายใช้สอยไม่ต่ำกว่า 28,500 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 5.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ที่เติบโตร้อยละ 8.0 ซึ่งในปีนี้ภาคธุรกิจยังคงใช้เทศกาลปีใหม่เป็นหนึ่งในอีเวนต์ที่เข้ามากระตุ้นยอดขาย แต่ลักษณะกิจกรรมที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของกิจกรรมรื่นเริง แต่อาจปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อบรรยากาศในช่วงแสดงความอาลัย

อย่างไรก็ตาม ปริมาณเม็ดเงินค่าใช้จ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 แยกเป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม 9,200 ล้านบาท รองลงมาคือ ท่องเที่ยว (เฉพาะค่าที่พัก และค่าเดินทาง) 8,000 ล้านบาท ซื้อของขวัญ/ของฝาก 4,400 ล้านบาท การให้เงินพ่อแม่/พี่น้องเป็นของขวัญปีใหม่ 4,100 ล้านบาท และทำบุญ/ไหว้พระ 2,800 ล้านบาท ในขณะที่งบประมาณใช้จ่ายต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 5,400 บาท ทั้งนี้ จากการประกาศให้มีวันหยุดราชการในช่วงเทศกาลปีใหม่ยาวติดต่อกันถึง 4 วัน ประกอบกับมาตรการของภาครัฐที่ออกมากระตุ้นการจับจ่ายในช่วงปลายปี อย่างมาตรการชอปช่วยชาติ และการให้เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้การจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ไม่ซบเซามากนัก แม้ว่าปัจจัยทางด้านค่าครองชีพ และบรรยากาศในช่วงแสดงความอาลัยต่อการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ จะส่งผลให้พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยแตกต่างไปจากทุกปีที่ผ่านมา

ขณะที่สินค้าที่เกี่ยวกับรัชกาลที่ ๙ และสินค้าที่เน้นช่วยเหลือสังคมจะกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความสนใจจากคนกรุง เพื่อมอบให้เป็นของขวัญสำหรับปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ระลึกที่จัดทำพิเศษเพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระองค์ ธนบัตรหรือเหรียญที่ระลึก เป็นต้น รวมไปถึงข้าวชาวนาที่คนกรุงหันมาเลือกเป็นของขวัญ และของฝาก โดยถือเป็นการช่วยเหลือชาวนาจากปัญหาราคาข้าวที่ตกต่ำ ซึ่งสอดคล้องต่อผลสำรวจที่ระบุว่า ปัจจัยในการเลือกซื้อของขวัญของฝากในปีนี้ นอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอย และคุณภาพของสินค้าแล้ว ยังคำนึงถึงคุณค่า หรือความหมายทางจิตใจเข้ามาร่วมด้วย ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้ายังคงเป็นแหล่งจับจ่ายซื้อของขวัญที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจากคนกรุง เนื่องจากมีสินค้า และบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้หลากหลายประเภท

อย่างไรก็ดี มูลค่าตลาดกระเช้าปีใหม่ปี 2560 จะมีมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท ทั้งนี้ กระเช้าปีใหม่ยังคงตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้มองว่าการให้ของขวัญในนามขององค์กรค่อนข้างมีอิทธิพลอย่างมากต่อการสานต่อ และเชื่อมความสัมพันธ์ให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์องค์กรด้วย แต่การเลือกซื้อกระเช้าของขวัญในปีนี้น่าจะได้เห็นภาพการปรับเปลี่ยนมากกว่าทุกๆ ปี เพราะนอกเหนือจากสินค้าเดิมที่ได้รับความนิยมทุกปี คือ สินค้ากลุ่มสุขภาพ (รังนก ซุปไก่สกัด น้ำผักผลไม้) แล้ว ยังมีสินค้าที่มาแรงและคาดว่าจะถูกเลือกนำมาจัดเป็นกระเช้าในปีนี้ ได้แก่ สินค้าโครงการหลวง สินค้า OTOP สินค้าออแกนิก หรือปลอดสารพิษ ซึ่งเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้แก่ผู้บริโภคได้ตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งผู้ประกอบการกระเช้าปีใหม่จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์การตลาด เช่น การติดต่อซัปพลายเออร์ (สำนักพิมพ์ ผู้ผลิตข้าวชุมชน และข้าวชาวนา ผู้ผลิตสินค้าโครงการหลวง สินค้าออแกนิก หรือสินค้า OTOP) เพื่อบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้าในช่วงเวลาดังกล่าว

ส่วนกระแสการทำความดี ทำให้กิจกรรมการใช้จ่ายกระจายไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอื่นๆ มากขึ้น คนกรุงมีการปรับพฤติกรรมรับเทศกาลปีใหม่ 2560 โดยเฉพาะปรับลดการทำกิจกรรมรื่นเริงสังสรรค์ เช่น การออกไปปาร์ตี้ หรือเลี้ยงฉลองในช่วงเทศกาลปีใหม่ และปรับเปลี่ยนไปทำกิจกรรมความดี และมีประโยชน์กับสังคมมากขึ้น ซึ่งสอดรับต่อภาคเอกชนที่หันมาปรับกิจกรรมรื่นเริง หรือเคานต์ดาวน์ (เช่น การจุดพลุฉลอง การแสดงดนตรีแสงสีเสียง) ไปสู่รูปแบบของการทำบุญตักบาตร ร่วมสวดมนต์ข้ามปี หรือกิจกรรมที่แสดงถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ เช่น การจัดนิทรรศการ เป็นต้น รวมถึงการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ หรือมูลนิธิ จัดกิจกรรมเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมทำบุญ โดยอยู่ในรูปแบบของการจำหน่ายสินค้าต่างๆ เช่น เสื้อผ้า สิ่งพิมพ์ ข้าวชาวนา ซึ่งช่วยสร้างเม็ดเงินให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ ธุรกิจเสื้อผ้า ร้านค้าโครงการหลวง รวมถึงธุรกิจผลิตข้าวชุมชน และข้าวชาวนา อีกทั้งยังถือเป็นการส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ให้แก่องค์กรด้วย

ทั้งนี้ เทศกาลปีใหม่ปีนี้ คนกรุงอาจเน้นทำกิจกรรมที่ไม่คึกคักมากนักเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยกิจกรรมหลักๆ ยังคงมีอยู่ แต่อาจจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมต่อบรรยากาศในช่วงนี้ ดังนั้น ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะการจัดกิจกรรม หรืออีเวนต์ที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ ๙ ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย หรือการทำกิจกรรมของคนกรุง ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2560 ให้ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
กำลังโหลดความคิดเห็น