xs
xsm
sm
md
lg

กสิกรฯ มั่นใจพื้นฐาน ศก.ไทยแข็งแกร่ง ขณะที่ดัชนีภาวะ ศก.ครัวเรือนมีสัญญาณฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ มั่นใจพื้นฐาน ศก.ไทยยังแข็งแกร่ง พร้อมรองรับความผันผวนเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ หากเฟดขึ้น ดบ. ขณะที่ดัชนีภาวะ ศก.ครัวเรือน พ.ย. ปรับตัวดีขึ้น คาดหวังมาตรการกระตุ้น ศก.ช่วยเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ท่ามกลางสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำให้คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จากระดับ 0.25-0.50% สู่ระดับ 0.50-0.75% ในการประชุมรอบสุดท้ายของปี 2559 หลังจากที่เฟด ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันถึง 7 รอบการประชุมก่อนหน้านี้ ท่ามกลางหลายปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาของปี 2559

ทั้งนี้ แม้ตลาดการเงินทั่วโลกได้มีการปรับตัวสอดรับกับโอกาสที่เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ไปแล้ว แต่คงต้องยอมรับว่า การประชุมเฟด รอบนี้ยังมีอีกจุดที่น่าสนใจ และต้องติดตาม คือ ประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชุดใหม่ และความเห็นต่อระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมในระยะข้างหน้าจากเจ้าหน้าที่เฟด ซึ่งอาจจะมีการปรับเปลี่ยนไปจากประมาณการครั้งก่อนหน้าในเดือน ก.ย.59

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟด จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1-2 ครั้งในปี 2560 ซึ่งคงต้องยอมรับว่า แรงกดดันเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่มีโอกาสปรับสูงขึ้นอีกในปี 2560 หลังจากตลาดน้ำมันโลกผ่านพ้นจุดต่ำมาแล้ว และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ก็น่าจะได้รับแรงกระตุ้นเพิ่มเติมอีก หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ เข้ามาเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตามที่หาเสียงไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการปรับเพิ่มการใช้จ่าย และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนมาตรการลดภาษี ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับจุดที่น่าสนใจก็คือ ท่ามกลางภาวะที่การฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ อยู่ใกล้ระดับเต็มศักยภาพ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่เพิ่มเติมเข้ามาอีก อาจจะมีผลทำให้เศรษฐกิจ และเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในปี 2560 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นมากกว่าที่คาด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องเร่งจังหวะการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟด อาจยังมีความไม่แน่นอน เพราะในอีกด้านหนึ่งนั้น หากความเสี่ยงเศรษฐกิจต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น เฟดก็อาจจะเผชิญกับภาวะที่ไม่สามารถส่งสัญญาณการคุมเข้มดอกเบี้ยได้อย่างชัดเจนมากนัก (เหมือนกับสถานการณ์ตลอดช่วงปี 2559 ที่ผ่านมา)

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่อาจต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในปี 2560 ประกอบด้วย แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่มีโอกาสเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติมหากทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของสหรัฐฯ เลือกที่จะใช้มาตรการกีดดันทางการค้าที่รุนแรง ซึ่งความเสี่ยงดังกล่าวย่อมจะซ้ำเติมปัญหาหนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนอาจเพิ่มความเปราะบาง และความผันผวนให้กับค่าเงินหยวน และกระตุ้นการไหลออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นทางการเมืองในสหภาพยุโรปทั้งในเรื่อง Brexit รวมถึงการเลือกตั้งในหลายประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส และเยอรมนี (ตลอดจนอิตาลี ที่อาจต้องเลื่อนการเลือกตั้งเข้ามาเร็วขึ้น) ที่อาจทำให้มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความมีเอกภาพของสหภาพยุโรป หากจุดยืนของพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุนอียู ได้รับความสนใจจากประชาชนมากขึ้น

กรณีดังกล่าว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีแนวโน้มที่น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องในปี 2560 และสถานการณ์ดังกล่าวอาจทำให้มีโอกาสเห็นกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ (รวมทั้งไทย) อย่างไรก็ดี จากการที่ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงรออยู่หลายประการในช่วงปีข้างหน้า ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เฟดจะยังคงรักษาจังหวะการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยด้วยความระมัดระวัง

ทั้งนี้ ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเครื่องชี้เสถียรภาพต่างประเทศ (External Stability) ที่แข็งแกร่ง รวมทั้งระดับสภาพคล่องในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับสูง คงช่วยลดทอนผลกระทบจากความผันผวนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย และค่าเงินบาทตามรอบการเก็งจังหวะเฟด ขึ้นดอกเบี้ยลงไปได้บางส่วน

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามรายละเอียด และความชัดเจนของขนาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ในช่วงต้นปีหน้าอย่างใกล้ชิด เพราะคงต้องยอมรับว่า การคาดการณ์ถึงมาตรการกระตุ้นอย่างสุดขั้วของทรัมป์ เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่หนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ หากแนวนโยบาย และสัญญาณกระตุ้นจากทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ ออกมาไม่มากเท่ากับที่ตลาดคาดหวังไว้ ก็อาจทำให้ตลาดพันธบัตรเผชิญกับการปรับฐานเป็นระลอก ซึ่งแน่นอนว่า คงจะมีผลต่อเนื่องบางส่วนมายังกรอบการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน

ด้านดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือน (KR-ECI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 44.9 ในเดือน พ.ย.59 จากระดับ 42.9 ในเดือน ต.ค.59 เนื่องด้วยครัวเรือนมีความกังวลที่ลดลงในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า และภาระค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) หลังจากราคาสินค้าในหลายหมวดรายการสำคัญปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ความเชื่อมั่นของครัวเรือนในเดือน พ.ย.59 จะพลิกกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะครัวเรือนมีความกังวลลดลงในประเด็นเรื่องสถานการณ์ทางด้านราคาสินค้า และค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) หลังราคาสินค้าในหลายหมวดรายการสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อาหารสด รวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศ ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

แต่อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ ไม่อาจสะท้อนการบริโภคของภาคเอกชนในเชิงรูปธรรมได้ เนื่องจากครัวเรือนยังอยู่ในบรรยากาศแห่งความโศกเศร้า อีกทั้งห้างร้านต่างๆ ไม่มีการจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขาย รวมถึงรัฐบาลก็เพิ่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาในช่วงปลายเดือน พ.ย. จึงทำให้ครัวเรือนไม่อยู่ในภาวะที่อยากจะจับจ่ายซื้อหาสินค้าและบริการ แม้องค์ประกอบดัชนีภาวะเศรษฐกิจของครัวเรือนจะดูดีขึ้นก็ตาม ดังนั้น การบริโภคของภาคเอกชนในเดือน พ.ย.59 คาดว่าจะยังคงไม่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน ต.ค.59 ที่แผ่วลงราวร้อยละ -1.5 (MoM, SAAR)

ขณะที่ดัชนีสะท้อนมุมมองคาดการณ์ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า (3-month Expected KR-ECI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.6 หลังจากทรงตัวในระดับเดิมที่ 44.4 ติดต่อกันมานาน 3 เดือน สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนมองเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีหน้าในภาพที่ดีขึ้นกว่าในเดือนก่อนๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าสู่ช่วงการปรับขึ้นเงินเดือน และการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (Bonus) ขององค์กร อีกทั้งมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และค่าจ้างแรงงานมีฝีมือในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม จึงทำให้ครัวเรือนคาดหวังว่าจะมีรายได้ที่ดีขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ ครัวเรือนบางกลุ่มยังคาดหวังเพิ่มเติมว่า หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (ช้อปช่วยชาติ-นำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า และบริการมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) ก็น่าจะช่วยลดภาระทางภาษีเงินได้ ทำให้ครัวเรือนมีรายได้ที่จะมาจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ มุมมองคาดการณ์ที่สดใสขึ้น ก็น่าจะช่วยสนับสนุนการบริโภคของภาคเอกชนให้ขยายตัวดีในช่วงต้นปีหน้า

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในเดือนสุดท้ายของปี 2559 ยังคงต้องจับตาภาระค่าครองชีพของครัวเรือนที่อาจจะถูกกดดันจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกภายในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก หลังประเทศในกลุ่มโอเปก บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงมาอยู่ที่ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน เมื่อวันที่ 30 พ.ย.59 ที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ทยอยออกมาในช่วงนี้ก็อาจทำให้ครัวเรือนเร่งใช้จ่ายซื้อหาสินค้าและบริการในช่วงเดือน ธ.ค. ซึ่งก็น่าจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น