xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ มองปี 60 ปัจจัยใน ปท.จะเป็นตัวขันเคลื่อน ศก. ห่วงบาทอ่อน-เม็ดเงินไหลออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


TDRI ชี้การส่งออก และการบริโภคภายในประเทศจะเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ศก.ไทยปี 60 ห่วงบาทอ่อนค่า และเม็ดเงินไหลออก ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศถือเป็นความเสี่ยง

น.ส.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เปิดเผยในการสัมมนาร่วมระหว่างธนาคารโลก และทีดีอาร์ไอ ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.2% เพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่จะขยายตัวได้ 3% โดยได้รับอานิสงส์จากการส่งออกในปี 2560 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 0-1% หลังจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้นจากปีนี้ที่มองว่า ปีนี้การส่งออกจะติดลบเล็กน้อย หรือทรงตัวที่ 0%

ทั้งนี้ ในปี 2560 การบริโภคในประเทศเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว หลังจากที่ปีนี้ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และสถานการณ์ความโศกเศร้าจากเหตุการณ์ในประเทศ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐจากการเพิ่มงบประมาณกลางปี 1.9 แสนล้านบาท คาดว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2560 ได้

“มองว่าในปี 2560 พระเอกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การส่งออก และการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การลงทุนของภาครัฐจะมีส่วนช่วยได้บ้าง เนื่องจากเงินลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยเศรษฐกิจเพียง 5-6%”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการลงทุนภาครัฐนั้น ส่วนใหญ่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นของภาคเอกชนในการลงทุน ซึ่งสัญญาณเศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้นได้มากน้อยเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ และเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าว่าจะมีความชัดเจนอย่างไร ซึ่งในขณะนี้มีเพียงสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวที่ฟื้นตัว ขณะที่ยุโรป จีน และญี่ปุ่น ยังอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง หรือคงที่ ซึ่งทำให้มองไม่ชัดว่า การส่งออกของไทยจะฟื้นตัวได้อย่างชัดเจนในช่วงเวลาใด

สำหรับมาตรการช้อปช่วยชาติ ซึ่งคาดว่าจะมีการนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้า และบริการมาหักลดหย่อนภาษี 15,000 บาท และน่าจะเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้านั้น ประเมินว่า มาตรการดังกล่าวจะมีผลต่อ GDP ไม่ถึง 1% เท่านั้น เนื่องจากสัดส่วนผู้ที่เสียภาษีมีเพียง 4 ล้านคน จากประชาชนหมดของทั้งประเทศ เพียงแต่จะช่วยสร้างบรรยากาศการบริโภคภายในประเทศให้คึกคักมากขึ้น

น.ส.กิริฎา กล่าวว่า ในปีหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่คาดว่าจะเริ่มทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ในเดือน ธ.ค.59 และไม่สามารถระบุได้ว่า จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยกี่ครั้ง ส่งผลให้มีเงินทุนไหลออก และเงินบาทมีแนวโน้มปรับตัวอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าสินค้า เช่น ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันในราคาที่สูงขึ้น

ขณะที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงเดือน ธ.ค.นี้ หรือในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2560 แม้ว่าสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วก็ตาม เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวอย่างชัดเจน

นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนจากสหภาพยุโรป ที่ยังมีหลายประเทศต้องการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป โดยในเดือน มี.ค.2560 จะเห็นผลชัดเจนขึ้น ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนใหม่ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าจากจีน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ดังนั้น ไทยจะต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทั้งในเรื่องของการเพิ่มมูลค่าสินค้า และการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
กำลังโหลดความคิดเห็น