xs
xsm
sm
md
lg

ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี เผยบทวิเคราะห์สินค้าเกษตร ดาวเด่น-ดาวร่วง ปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิเคราะห์ ศก. ทีเอ็มบี เผยบทวิเคราะห์สินค้าเกษตร ดาวเด่น-ดาวร่วง ปี 60 ยกอ้อยเป็นสินค้าดาวรุ่ง ผลผลิตกุ้งขาวรีเทิร์นเพิ่มต่อเนื่อง ด้านมันสำปะหลังยังน่าเป็นห่วง แนะเกษตรกรลดพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยวตามรอยพระราชดำรัส

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี บมจ.ธนาคารทหารไทย เผยวิเคราะห์ว่า สินค้าเกษตรดาวรุ่งที่มีแนวโน้มดีต่อเนื่องถึงปีหน้า คือ อ้อย เนื่องจากราคาน้ำตาลตลาดโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ก ปลายเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 19.8 เซ็นต์ต่อปอนด์ เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 50 จากราคาเมื่อเดือนมกราคม 2559 โดยราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากราคาทำจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม 2558 และคาดว่าราคายังอยู่ในแนวโน้มที่ดีในปีหน้า หลังอุปทานตลาดโลกตึงตัว ส่งผลให้ปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยยิ้มได้จากราคาอ้อยฤดูกาลผลิต 2559/2560 สูงกว่าปีที่ผ่านมา

ด้านการเพาะเลี้ยงกุ้งกำลังเป็นดาวเด่นเข้าสู่ภาวะผลผลิตฟื้นตัวต่อเนื่อง หลังจากโรคตายด่วนระบาดเมื่อ 4 ปีก่อน ทำให้ผลผลิตกุ้งขาว ลดลงกว่าร้อยละ 60 กระทบอุตสาหกรรมอาหารส่งออกของไทยขาดแคลนวัตถุดิบ คาดว่าผลผลิตยังมีแนวโน้มสูงขึ้นร้อยละ 15 ในปีหน้า ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงกุ้งของเกษตรกร ส่วนราคากุ้งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีจากความต้องการของตลาดโลก กุ้งขาวจึงถูกคาดว่าจะรีเทิร์นกลับมาสดใสอีกครั้ง

ส่วนสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มคัมแบ็ก หลังครองตำแหน่งดาวร่วงมาหลายปีอย่างยางพารา ราคาปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาเฉลี่ยผ่านจุดสูงสุด 174.4 บาทต่อ กก. เมื่อต้นปี 2554 ราคาลดลงเกือบร้อยละ 80 ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ทำเม็ดเงินหายไปจากกระเป๋าชาวสวนยางเฉลี่ยเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลกระทบโดยตรงกับเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ล่าสุด ราคาเฉลี่ยยางแผ่นดิบ ชั้น 3 อยู่ที่ 59.4 บาทต่อ กก. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องกว่าร้อยละ 60 จากต้นปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นจากมาตรการเข้าเสริมของรัฐบาลที่พยายามปรับโครงสร้างการผลิต และใช้ยางของไทย เช่น สนับสนุนให้ใช้ยางในประเทศมากขึ้น และการลดพื้นที่ปลูกยางเพื่อลดผลผลิต เป็นต้น ทำให้ราคายางเริ่มปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เรียกว่า เป็นดาวที่เริ่มฉายแสงอีกครั้ง ขณะที่ข้าว แม้ว่าราคาเริ่มปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดในรอบปี โดยเฉพาะราคาเฉลี่ยข้าวหอมมะลิ ทำสถิติราคาต่ำกว่า 10,000 บาทต่อตัน ถือว่าต่ำสุดในปีนี้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาปีหน้าอาจจะยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำต่อเนื่องจากผลผลิตข้าวนาปี ฤดูกาลผลิต 2559/2560 ที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับประเทศผู้ผลิต และส่งออกข้าวรายใหญ่ของโลกอย่างเวียดนาม อินเดีย ปากีสถาน

ด้านสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างน่ากังวลปีหน้าคงหนีไม่พ้นมันสำปะหลัง ซึ่งราคาลดลงต่อเนื่องจากจีนอนุญาตให้ใช้ข้าวโพดในประเทศเพื่อผลิตแอลกอฮอล์ทดแทนมันสำปะหลังที่นำเข้าจากไทย ทำให้ราคาเฉลี่ยมันฯ สดคละลดลงจาก 2.2 บาทต่อ กก.ในปีก่อน ล่าสุด ราคาเดือนพฤศจิกายน ลดลงเหลือ 1.3 บาทต่อ กก. หรือลดลงกว่าร้อยละ 40 สวนทางกับปริมาณผลผลิตที่คาดว่า ปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2.1 หรือคิดเป็นปริมาณ 31.2 ล้านตัน ผลกระทบหนักสุดจึงหนีไม่พ้นเกษตรกรที่ลงทุนปลูกในช่วงราคาสูงก่อนหน้านี้กว่า 500,000 ครัวเรือน โดยกว่าครึ่งหนึ่งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และเศรษฐกิจในพื้นที่

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า หากต้องการให้ราคามีแนวโน้มดี ภาครัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างสินค้าเกษตรไทยอย่างจริงจังต่อเนื่อง ผลักดันให้พัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตมากขึ้น นอกจากนี้ เกษตรกรควรน้อมนำพระราชดำรัสเกษตรทฤษฎีใหม่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน ซึ่งสามารถสร้างความมั่นคงทางรายได้มากกว่าการพึ่งพาการเกษตรเชิงเดี่ยว ซึ่งมีความเสี่ยงจากราคาสูงกว่า และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืน และถือเป็นการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรระดับหน่วยย่อยไปพร้อมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น