xs
xsm
sm
md
lg

กระตุ้นแบงก์เร่งพัฒนาโปรแกรมและระบบความปลอดภัยธุรกรรมออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” หารือ “ธปท.” จี้ “ธนาคารพาณิชย์-แบงก์รัฐ” เร่งพัฒนาโปรแกรม และระบบรักษาความปลอดภัยสำหรับการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจ ป้องกันความเสี่ยงถูกโจรกรรมข้อมูล ขณะที่ฟินเทคพัฒนาไม่หยุดยั้ง ก่อให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุน และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมาก

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สั่งการ และมอบนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) พัฒนาโปรแกรม และรักษาความปลอดภัยสำหรับธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา พฤติกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินของคนไทยนิยมใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากตัวเลขปี 2558 มีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต ขยายตัวสูงถึง 8% และโมบายแบงกิ้ง ขยายตัวสูงถึง 127% จากปี 2557 เพื่อรองรับนโยบายรัฐบาลในการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ e-Payment อีกด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลมีจุดมุ่งหมายผลักดันให้ประเทศไทยมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ทำให้ธนาคารพาณิชย์ และแบงก์รัฐต้องเร่งพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในการทำธุรกรรม และป้องกันความเสี่ยงจากการโจรกรรมข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่จะช่วยรักษาความปลอดภัยของภาคการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบรักษาความปลอดภัยของภาคการเงินไทยให้แข็งแกร่งขึ้น

ขณะที่กลุ่มธุรกิจเริ่มต้นด้านเทคโนโลยีที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ จึงต้องให้ความสนใจในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพราะกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกยุคใหม่ เพื่อให้การเริ่มต้นธุรกิจประสบความสำเร็จ และเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ประกอบกับปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ก่อให้เกิดบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวก ลดต้นทุน และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่า ธปท.ได้เริ่มผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มความปลอดภัยของบริการทางการเงินในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ไบโอเมทริกซ์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้คุณลักษณะของสิ่งมีชีวิตในการยืนยันตัวบุคคล เช่น เสียง ลายนิ้วมือ หรือม่านตา เป็นต้น โดยมีจุดเด่นที่มีความแม่นยำสูงมากในการระบุตัวตน สะท้อนจากอัตราการหลุดรอดของผู้แปลกปลอมจากการตรวจจับได้ย่างแม่นยำ ป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานข้อมูลธุรกรรมการให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) หรืออี-มันนี่ (e-Money) ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา มูลค่าการใช้จ่ายของอี-มันนี่ เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนถึง 1,534 ล้านบาท หรือ 25.85% จาก 5,935 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7,469 ล้านบาท เป็นไปตามพฤติกรรม และความสะดวกของผู้บริโภค

นอกจากนี้ ธปท.ยังรายงานมูลค่าการเติมเงินอี-มันนี่ เดือน ก.ย.ปีนี้ เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนว่า เพิ่มขึ้น 1,740 ล้านบาท หรือ 29.36% จาก 5,929 ล้านบาท เพิ่มเป็น 7,669 ล้านบาท ขณะที่จำนวนบัตรหรือบัญชีการใช้อี-มันนี่ ทั้งระบบมีทั้งสิ้น 37.1 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 6.41 ล้านบัญชี หรือ 20.89%
กำลังโหลดความคิดเห็น