“คลัง” จัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมแนวทางแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ พร้อมเดินหน้าแจงหลักเกณฑ์พิโกไฟแนนซ์ นำร่อง 4 จังหวัด ในภาคอีสาน
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นประธานในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการบริหารงานเพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการ และยั่งยืน ร่วมกับคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด จาก 4 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น อุดรธานี มหาสารคาม และร้อยเอ็ด พร้อมด้วยคณะกรรมการกำกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคประชาชน
โดยการประชุมในครั้งนี้ ปลัดกระทรวงการคลังเน้นย้ำการดำเนินการใน 4 ประเด็นหลัก คือ 1.กระบวนการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบ ซึ่งมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมาย และการบังคับคดีจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการไกล่เกลี่ย และประนอมหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการเจรจาประนอมหนี้ กับเจ้าหนี้นอกระบบ เพื่อลดมูลหนี้ที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ย หรือเงื่อนไขที่เอารัดเอาเปรียบ โดยยึดหลักของความเป็นธรรมในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งฝ่ายลูกหนี้ และเจ้าหนี้พึงพอใจ
2.กระบวนการฟื้นฟู และพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบ ซึ่งมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้านการเพิ่มรายได้ของตัวเองให้มากขึ้น ภายใต้กรอบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรวมถึงการพัฒนาการเพาะปลูกพืช หรือเลี้ยงสัตว์ ให้มีประสิทธิภาพ และต้นทุนที่น้อยลง การสร้างอาชีพเสริม การพัฒนาฝีมือแรงงานในภาคต่างๆ และการหางานให้กับลูกหนี้นอกระบบที่ไม่มีงานทำ
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบประจำจังหวัด มีหน้าที่รวมถึงการพิจารณาการให้สวัสดิการแก่ประชาชนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบที่อาจจะไม่มีศักยภาพในการพึ่งพาตัวเองได้
3.การพัฒนาแหล่งเงินทุนสำหรับประชาชนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติ ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกำหนดธุรกิจสินเชื่อประเภทใหม่ คือ สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) โดยให้นิติบุคคลที่สนใจยื่นคำขออนุญาตการประกอบธุรกิจกับกระทรวงการคลัง ซึ่งจะสามารถให้สินเชื่อกับประชาชนในจังหวัดในวงเงินไม่เกินรายละ 50,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย รวมค่าปรับ ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ไม่เกิน 36% ต่อปี (Effective Rate) ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเข้ามาเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบอย่างถูกกฎหมาย และช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม
4.การดำเนินการกับเจ้าหนี้นอกระบบที่กระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมกับกระทรวงกลาโหม, กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตามจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด และจริงจัง รวมทั้งผลักดันให้เจ้าหนี้นอกระบบเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการปรับพฤติกรรมให้เป็นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ
นายกฤษฎา กล่าวด้วยว่า ในวันพรุ่งนี้ (9 ธ.ค.) กระทรวงการคลังจะจัดการสัมมนา เรื่อง การประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการประกอบธุรกิจ และขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์กับกระทรวงการคลัง ให้ธุรกิจ ห้างร้าน และประชาชนผู้สนใจทราบ พร้อมกับได้จัดเจ้าหน้าที่ให้คำปรึกษาภายในงานระหว่างเวลา 9.00-14.00 น. ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.ขอนแก่น