xs
xsm
sm
md
lg

เผยใจเจ้าสัวแห่ชอปธุรกิจสื่อ เพราะมีราคาถูก แถมได้ของดีที่โดนใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์ฯ ไขปริศนาเจ้าสัวแห่ฮุบกิจการสื่อในช่วงนี้ เกิดจากภาวะ ศก. และธุรกิจที่แข่งขันสูง รายได้โฆษณาหด จำเป็นต้องเพิ่มสภาพคล่อง ขณะที่ประเทศก้าวสู่ยุค 4.0 ผู้บริโภคจำนวนมากหันไปให้ความสำคัญกับสื่อใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ เฟซบุ๊ก ที่มีทั้งข่าวสาร การถ่ายทอดสดรายการต่างๆ และมีภาพยนต์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงสามารถดูง่าย และสะดวกสบาย ขณะที่สื่อทีวีมีประชาชนเข้ามาดูน้อยลง บางรายแค่เปิดทิ้งไว้ แต่กลับไปทำกิจกรรมอื่นแทน

นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ กลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เคทีบี (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงปัจจัยที่มีผลกระทบทำให้ธุรกิจสื่อปิดกิจการในช่วงนี้ หรือเกิดการเทกโอเวอร์จากบรรดาเจ้าสัวเพิ่มขึ้นนั้น โดยคาดว่าเกิดจากธุรกิจที่มีมาก และแข่งกันในการหาโฆษณาสูง ทำให้บริษัทที่มีปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

ประกอบกับในช่วงนี้เป็นภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว บริษัทต่างๆ จำเป็นต้องลดงบประมาณด้านการตลาด ส่งผลให้รายได้หรือกำไรของกลุ่มสื่อที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ลดลงอย่างมาก โดยช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ย.) กลุ่มสื่อ และจัดงานอีเวนต์ 13 บริษัท ยกเว้นสื่อสิ่งพิมพ์ มีกำไร 1,201 ล้านบาท ลดลง 53% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งในจำนวนนี้มีขาดทุนถึง 5 บริษัท

“แนวโน้มธุรกิจมีเดียเริ่มประสบปัญหารายได้ลดลง และขาดทุนเพิ่มขึ้น เห็นจากข้อมูลการแจ้งผลประกอบการของกลุ่มบริษัทในหมวดมีเดียรายใหญ่ เช่น บีอีซี, อสมท, แกรมมี่, อาร์เอส และกลุ่มจัดงานอีเวนต์ เป็นต้น ต่างมีกำไรลดลง และบางรายขาดทุน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแข่งขันที่สูง และมีผู้ประกอบการจำนวนมากมาแย่งโฆษณา”

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์การเข้ามาเทกโอเวอร์ธุรกิจสื่อของกลุ่มบรรดาเจ้าสัวมีปัจจัยหลักๆ คือ ผู้ประกอบการต้องการลดภาระต้นทุนด้วยการขาย หรือการขายหุ้นส่วนหนึ่งให้กลุ่มทุนที่มีสภาพคล่องสูง ด้านผู้ที่เข้ามาเทกโอเวอร์ต้องการใช้ช่องทางสื่อในการทำตลาดให้กับสินค้าให้เครือบริษัทตนเอง และมองว่าเป็นการลงทุนในอนาคต เพราะธุรกิจใกล้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม การเข้ามาเทกโอเวอร์ถือเป็นเรื่องปกติของธุรกิจทั้งสองฝ่าย เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินการต่อไปได้

นายมงคล ยังกล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยอมรับว่าผู้บริโภคจำนวนมากหันไปให้ความสำคัญกับสื่อใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ที่มีทั้งข่าวสาร การถ่ายทอดสดรายการต่างๆ และมีภาพยนต์ใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงสามารถดูง่าย และสะดวกสบาย ขณะที่ทีวีมีประชาชนเข้ามาดูน้อยลง บางรายแค่เปิดทิ้งไว้ แต่กลับไปทำกิจกรรมอื่นแทน เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ใช้เงิน 850 ล้านบาท เข้ามาซื้อหุ้น 47.62% ใน บมจ.อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง (AMARIN) ขณะที่ตระกูลปราสาททองโอสถ เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนคิดเป็นมูล 1,905 ล้านบาท ในบริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจช่อง ONE ในเครือ บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY)
กำลังโหลดความคิดเห็น