สภาพัฒน์ เผยรายได้ และผลิตภาพแรงงานของไทยเพิ่มขึ้น ส่วนความยากจน และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ก็ดีขึ้นด้วย แต่ยังต้องติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน ยอมรับยังมีคนเตะฝุ่นอีก 3.6 แสนคน พร้อมหนุนคลังอัดฉีดเม็ดเงินแสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2559 ระบุว่า รายได้ และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ความยากจน และความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ดีขึ้น แต่ยังต้องติดตาม และเฝ้าระวังสถานการณ์การจ้างงาน การว่างงาน โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับทรงตัว มีการจ้างงาน 38.2 ล้านคน ลดลง 0.2% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นการจ้างงานภาคเกษตร ลดลง 2.3% เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และเกษตรกรต้องเลื่อนการเพาะปลูกออกไป ทำให้การจ้างงานในภาคเกษตรยังคงลดลง แม้จะเป็นช่วงเวลาเพาะปลูกตามฤดูกาลปกติ
“ขณะที่ผู้ว่างงานมี 3.62 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับ 0.94% เทียบกับ 0.92% ในไตรมาสเดียวกันของปี 2558”
อย่างไรก็ดี ภาคนอกเกษตรมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.9% ในสาขาการก่อสร้าง การค้าส่ง ค้าปลีก และการโรงแรม ภัตตาคาร และจากการส่งออกที่ฟื้นตัวอย่างไม่ชัดเจน ทำให้สาขาอุตสาหกรรม และการขนส่ง การเก็บสินค้ามีการจ้างงานลดลง
สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาสที่ 3 ยังมีแนวโน้มชะลอตัว สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือ 5.2% ซึ่งเป็นการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต เป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐสิ้นสุดลง และธนาคารยังคงเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อเพื่อซื้อ หรือเช่าซื้อรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.9% ตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ปรับดีขึ้น
ด้านความสามารถในการชำระหนี้มีแนวโน้มลดลง เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 2.6% ในไตรมาสที่ 2 เป็น 2.73% ในไตรมาสที่ 3 โดยลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ย เกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน เพิ่มขึ้นจาก 3.2% ในไตรมาสที่ 2 มาอยู่ 3.26% ส่วนการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 1.15 หมื่นล้านบาท ลดลง 31.1% คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของยอดสินเชื่อคงค้าง แต่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่า 1.18 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.9% คิดเป็น 3.7% ของสินเชื่อคงค้าง โดยจะต้องเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยเป็นสำคัญ
นายปรเมธี กล่าวว่า ความยากจน และความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยดีขึ้น โดยสัดส่วนคนจนลดลงเหลือ 7.2% จาก 10.5% ในปี 2557 ขณะที่ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้มีความไม่เสมอภาคลดลง 0.465% จาก 0.445% โดยรัฐบาลได้มีนโยบาย และมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขปัญหา เช่น การเร่งสร้างโอกาส อาชีพ และการมีรายได้ที่มั่นคง และการดำเนินในระยะ 5 ปีข้างหน้า ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 12 ยังได้ให้ความสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำมุ่งเน้นยกระดับรายได้ของประชากร
“การที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงินรวม 1 แสนล้านบาท ในปีหน้า เพื่อมาลงทุนในจังหวัดต่างๆ และกองทุนหมู่บ้าน มองว่า ยังต้องมาพิจารณากันหลังจากมีข้อสรุปโครงการที่ชัดเจนว่า จะเอาเงินไปใช้ทำอะไร แต่เชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ตามเขตเมือง และต่างจังหวัดได้ เพราะจะเป็นการใช้เงินอย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะสามารถช่วยในกลุ่มพื้นที่ยากจน หรือใกล้ยากจนได้ และอาจจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้าได้ในระดับหนึ่ง”