ชาวไทยได้ร่วมภาคภูมิใจไปกับ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หลังสื่อดังระดับโลก “ไทม์” ยกย่องให้ “AP Unusual Football Field” (สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว) เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2559
บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเจ้าแห่งนวัตกรรมการดีไซน์พื้นที่ใช้สอยเพื่อการอยู่อาศัย ผู้สร้างสรรค์ “AP Unusual Football Field” (สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว) ต้นแบบสนามฟุตบอลแนวคิดใหม่ย่านชุมชนคลองเตย ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ (TIME magazine) ให้เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 ที่คัดเลือกจากสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดทั่วโลก โดยตัดสินจากผลงานที่ช่วยทำให้โลกดียิ่งขึ้น ซึ่งสนามฟุตบอลดังกล่าวเป็นการส่งผ่านแนวคิดจากการออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยสู่การออกแบบพื้นที่เพื่อคืนกลับสู่สังคม ภายใต้แนวคิด “AP Think Space” โดยทีม AP Design Lab ได้สร้างสรรค์พื้นที่สูญเปล่าของชุมชนคลองเตย ให้เกิดเป็นพื้นที่ที่สร้างประโยชน์ให้กับทุกคนในชุมชน จนเกิดเป็นสนามฟุตบอลรูปทรงแปลกใหม่ที่ไม่จำกัดแค่รูปทรงสี่เหลี่ยม ได้แก่ สนามรูปตัวแอล และสนามรูปซิกแซก ถือเป็นครั้งแรกของโลก อีกทั้งยังเป็นการท้าทายวิธีคิดของเอพี ในการก้าวข้ามข้อจำกัดเดิมๆ ของการพัฒนาพื้นที่ด้วยการคิดต่าง สร้างสรรค์เป็น “พื้นที่ชีวิตที่มีคุณค่า” และได้ประโยชน์สำหรับผู้คนในชุมชนทั้งเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้อย่างมีความสุข ถือเป็นนวัตกรรมการดีไซน์ที่ไม่มีใครเหมือน จนได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทม์ สื่อระดับโลกในครั้งนี้
นายภัทรภูริต รุ่งจตุรภัทร ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายงาน Corporate Image บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) กล่าวว่า “เวลาพูดถึงการอยู่อาศัยในชุมชนที่มีคนจำนวนมาก หลายคนมักจะนึกถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเยาวชน หรือปัญหาด้านคุณภาพชีวิต ทางทีมเอพี เราก็คุยกันว่า ในปีหนึ่งๆ เราอยากเอาความชำนาญของเราในเรื่องของการออกแบบพื้นที่มาช่วยให้คนในสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น จนมาลงตัวที่การออกแบบอะไรสักอย่างให้กับชุมชนคลองเตย โดยมุ่งประเด็นไปที่การพัฒนาพื้นที่รกร้าง หรือว่างเปล่าที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้ให้กลับมามีคุณภาพ”
“หลายคนสงสัยว่า สนามฟุตบอลที่รูปทรงไม่ใช่สี่เหลี่ยมเด็กๆ เล่นได้จริงหรือ แต่ในเมื่อเราเห็นแล้วว่า สนาม คือ สิ่งที่คนในชุมชนต้องการ เราจึงมองว่า ขนาด และรูปร่างของพื้นที่ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง แต่เราจะทำยังไงภายใต้ข้อจำกัดให้สนามใช้งานได้จริงที่สุด และนั่นจึงเป็นที่มาของการท้าทายวิธีคิดของทีมดีไซเนอร์เรา สนามบอลรูปทรงแปลกทั้ง 2 แห่ง ทั้งสนามรูปตัวแอล และสนามรูปซิกแซก ไม่ได้เกิดจาก “การคิดต่าง” เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออกแบบที่บาลานซ์ทั้งความยืดหยุ่น และความกลมกลืน ให้เกิดขึ้นไปกับชุมชนมากที่สุด ที่สำคัญต้องใช้สอยได้จริง โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับรูปทรงเดิมๆ เสมอไป”
ทั้งนี้ การที่นิตยสารไทม์ ยกย่องให้ “AP Unusual Football Field” (สนามฟุตบอลรูปทรงฉีกแนว) ให้เป็น 1 ใน 25 สุดยอดสิ่งประดิษฐ์แห่งปี 2016 นั้น ถือเป็นความสำเร็จที่เหนือความคาดหมาย รวมถึงการให้การตอบรับทั้งจากสื่อมวลชนในไทย และต่างประเทศก็ตาม แต่เหนือสิ่งอื่นใดนั้น ความสำเร็จสูงสุดของโปรเจกต์นี้ คือ สิ่งที่เราสร้างสรรค์ขึ้นตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง เพราะหัวใจสำคัญของการออกแบบก็คือ การคำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก ซึ่งก็คือ คนในชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่เราสร้างสรรค์ความตั้งใจของเราจริงๆ ดังหลักเกณฑ์ที่นิตยสารไทม์ ใช้ในการคัดเลือกที่ว่า สิ่งประดิษฐ์นั้นๆ ต้องช่วยทำให้สังคมโลกดียิ่งขึ้น