xs
xsm
sm
md
lg

“คลัง” มั่นใจแผนพัฒนาระบบการเงินภาค ปชช.ปี 60-64 ช่วยสร้าง ศก.ชุมชนเข้มแข็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” มั่นใจแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนปี 2560-2564 จะช่วยสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชน และทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ และ 16 มาตรการ

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเรื่องร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ปี 2560-2564 กระทรวงการคลัง คาดว่าการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนดังกล่าวจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนผ่านการสร้างรายได้ ลดภาระทางการเงิน การเตรียมความพร้อมทางโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินภาคประชาชนให้เอื้อต่อการดำเนินการของผู้ให้บริการทางการเงิน และส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการทางการเงินโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย สามารถเข้าถึงบริการทางการเงิน และสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการออม ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการอย่างบูรณาการ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน ปี 2560-2564 ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ 6 กลยุทธ์ และ 16 มาตรการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้ และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการเพิ่มศักยภาพในการประกอบอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนระดับฐานราก และการลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น การส่งเสริมอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย การส่งเสริมการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ การแก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชน การสร้างทักษะให้ประชาชนมีความสามารถในการบริหารจัดการทางการเงิน

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาผู้ให้บริการทางการเงินเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการเงินแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชนให้สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างยั่งยืน และการสนับสนุนให้สถาบันการเงินในระบบขยายบทบาท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้น โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น การสร้างความเข้มแข็งขององค์กรการเงินชุมชน การส่งเสริมให้สถาบันการเงิน และสถาบันการเงินเฉพาะกิจให้บริการทางการเงินในระดับฐานรากมากขึ้น

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย กลยุทธ์ด้านการพัฒนากฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชน และการพัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อสนับสนุนการให้บริการทางการเงินภาคประชาชน โดยมีมาตรการต่างๆ เช่น การพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน การศึกษา และยกร่างกฎหมายใหม่ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน การจัดตั้งกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายระบบการเงินภาคประชาชน การจัดทำ และพัฒนาระบบฐานข้อมูล
กำลังโหลดความคิดเห็น