ก.ล.ต.นับหนึ่งไฟลิ่ง “อาม่า มารีน” เสนอขายไอพีโอ 108 ล้านหุ้น ระดมทุนขยายกองเรือ และรถขนส่งเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทั้งใน และต่างประเทศ พร้อมเดินหน้าโรดโชว์ทั่วทุกภาค
นางศรัณยา กระแสเศียร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เซจแคปปิตอล จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA เปิดเผยว่า หลังจากที่ “อาม่า มารีน” ได้ยื่นคำขออนุญาตเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก หรือ IPO และได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ หรือ ไฟลิ่ง ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ขณะนี้สำนักงาน ก.ล.ต.ได้เริ่มนับหนึ่งไฟลิ่งของ บมจ.อาม่า มารีน ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2559
สำหรับ AMA มีทุนจดทะเบียน 215.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 431.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยทุนเรียกชำระแล้ว 161.80 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 323.60 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยที่จะเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน 108.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท หรือคิดเป็น 25.02% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อลงทุนขยายกองเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี รวมถึงขยายกองรถบรรทุกน้ำมันและสารเคมี เพื่อเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
“ในการระดมทุนครั้งนี้เพื่อจะนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ และเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าเหลวให้กับบริษัท เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น ตามตัวเลขการนำเข้าน้ำมันพืชที่เพิ่มสูงขึ้นของประเทศผู้นำเข้าน้ำมันพืชอันดับต้นๆ ของโลกไม่ว่าจะเป็นจีน หรืออินเดีย เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต” นางศรัณยา กล่าว
นางศรัณยา กล่าวต่อว่า หลังจากนี้บริษัทฯ อยู่ในระหว่างวางแผนสำหรับการเดินสายนำเสนอข้อมูลบริษัทแก่นักลงทุน หรือโรดโชว์ โดยมีเป้าหมายเพื่อพบ และให้ข้อมูลกับนักลงทุนทุกภาคทั่วประเทศ โดยเชื่อว่า AMA จะได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ด้วยองค์ประกอบของบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการเป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือระหว่างประเทศ และขนส่งสินค้าเหลวทางรถภายในประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในอนาคต และที่สำคัญ ทีมผู้บริหารล้วนแล้วแต่มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจ ซึ่งคาดหวังว่า สิ่งเหล่านี้จะทำให้ AMA มีความน่าสนใจต่อนักลงทุนเพิ่มมากยิ่งขึ้น
นายพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ AMA ผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางเรือ และให้บริการขนส่งสินค้าเหลวทางรถ กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจด้านลอจิสติกส์ (Logistic) ให้บริการขนส่งสินค้าทางเรือ และรถ ทั้งใน และต่างประเทศ โดยในธุรกิจขนส่งสินค้าทางเรือ บริษัทเน้นการให้บริการขนส่งสินค้าเหลว (Liquid Product) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช (Vegetable Oil Product) เป็นหลัก เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันถั่วเหลือง โดยใช้เรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี (Oil and Chemical Tanker) ที่มีน้ำหนักบรรทุกประมาณ 3,000 ถึง 13,000 เมตริกตัน เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก
ส่วนในธุรกิจขนส่งทางรถ บริษัทให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และ B100 โดยใช้รถบรรทุกน้ำมันที่มีปริมาณบรรทุก 45,000 ลิตร เส้นทางให้บริการหลักในการขนส่งอยู่ภายในประเทศ โดย ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2559 บริษัทมีเรือบรรทุกน้ำมันและสารเคมี จำนวน 8 ลำ มีน้ำหนักบรรทุกรวมทั้งสิ้น 46,661 เมตริกตัน และมีรถบรรทุกน้ำมัน 95 คัน มีปริมาณการบรรทุกรวมทั้งสิ้น 4.28 ล้านลิตร
“เรามีประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจขนส่งสินค้าเหลวทั้งทางรถ และทางเรือ ซึ่งเรามีแผนที่จะขยายเส้นทางการขนส่งไปยังภูมิภาคเอเชียใต้ เพื่อครอบคลุมประเทศที่มีความต้องการบริโภคน้ำมันปาล์มสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้แก่ ประเทศจีน ประเทศอินเดีย และประเทศปากีสถาน เป็นต้น ซึ่งเรามีความมั่นใจว่า จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน จากโอกาสในการเติบโตของธุรกิจในอนาคต รวมถึงการทำงานร่วมกับที่ปรึกษาทางการเงินที่เป็นมืออาชีพทำให้กระบวนการต่างๆ เดินหน้าไปตามขั้นตอนที่กำหนด” นายพิศาล กล่าว
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงาน 3 ปีย้อนหลัง ปี 2556 บริษัทมีรายได้รวม 426.57 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 20.39 ล้านบาท ปี 2557 มีรายได้รวม 510.46 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 85.40 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้รวมเท่ากับ 643.18 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 130.12 ล้านบาท ขณะที่ผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรก ปี 2559 บริษัทมีรายได้รวม 677.96 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 100.52 ล้านบาท