เจ้าสัว “ธนินท์” ชูเครือซีพีใช้เทคโนโลยีบริหาร เป็นปัจจัยหนุนสำคัญของธุรกิจ โดยไม่ต้องย้ายฐานผลิต แย้มสนใจลงทุนสถาบันเพื่อดูแลผู้สูงอายุ พร้อมประกาศหนุนใช้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นำหุ่นยนต์อัจฉริยะแทนแรงงานผลิตสินค้า 24 ชั่วโมง ย้ำนโยบาย 3 ประโยชน์เพื่อการลงทุนในต่างชาติ
นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) กล่าวในหัวข้อ “พันธมิตรระดับโลกในยุคโลกานิยม” ของงานสัมมนา The Nikkei Asia 300 Global Business Forum โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทยภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยมุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีใหม่ ถือว่าเป็นโอกาสของไทย และอาเซียน โดยเฉพาะไทยจะได้ประโยชน์ เพราะเป็นประเทศศูนย์กลางของอาเซียน และติดกับจีน และอินเดีย
นายธนินท์ มองว่า กลุ่มอาเซียน จะเปลี่ยนแปลงรวดเร็วหลังจากนี้ และไทยก็จะยังเป็นแหล่งลงทุนที่ดี เพราะมีภูมิประเทศที่ดี เป็นประตูอาเซียนอย่างแท้จริง ที่รายล้อมทั้งจีน อินเดีย เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ขณะที่รัฐบาลไทย โดยการนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมยนตรี ได้มีการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ เพื่อรองรับธุรกิจไบโอเทคโนโลยี การสร้างรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-ระยอง สนามบิน เป็นต้น
“ประเทศไทยวันนี้ปรับเป็นเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งไทย โดยนายกฯ ประยุทธ์ กำลังออกกฎหมายรองรับที่ดี จะทำให้ไทยเป็นตัวอย่างเอเชีย 10 ประเทศ ในการดึงการลงทุน โดยเฉพาะการให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน เนื่องจากได้เปรียบด้านเทคโนโลยี และรู้จักไทย แต่ญี่ปุ่นต้องกล้าที่จะเสี่ยงเข้ามาลงทุน”
ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และปรับธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เช่น การปรับเปลี่ยนอุตสาหกรรยานยนต์สู่รถยนต์ไฟฟ้า และยานยนต์ไร้คนขับ การใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
กรณีดังกล่าว เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี ได้ปรับแนวทางการผลิตสู่การสร้างโรงงานไร้แรงงานมนุษย์ในสหภาพยุโรป โดยใช้หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีใหม่มาควบคุมการผลิตแทน รวมทั้งการค้นคว้าวิจัยไบโอเทคโนโลยีมาผลิตสินค้าเกษตรกึ่งอาหารให้มีประสิทธิภาพ และคุณภาพ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ส่วนการลงทุนของเครือซีพี ในประเทศด้อยพัฒนา ไม่มีความเป็นห่วงว่าจะผลิตอาหารไม่ได้ เพราะเครือซีพี จะใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพียงแค่การกดปุ่มก็สามารถผลิตอาหารเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับปริมาณประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่กังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนอาหาร แต่เป็นห่วงภาวะเงินฝืด เนื่องจากปริมาณอาหารจะล้นโลก เกินความต้องการของมนุษย์มากกว่า
นายธนินท์ กล่าวด้วยว่า เครือซีพี ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท อิโตชู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทการค้ายักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตอาหารสำหรับผู้สูงอายุ ป้อนให้กับสถาบันรับดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นของอิโตชู ซึ่งจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาว และมีสุขภาพที่แข็งแรง แต่จะไม่ลงทุนเกี่ยวกับการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และอุปกรณ์ต่างๆ เนื่องจากญี่ปุ่นความเชี่ยวชาญ และใช้หุ่นยนต์เข้ามาดูแลผู้สูงอายุได้ดีอยู่แล้ว
นายธนินท์ ย้ำว่า การลงทุนของเครือซีพี ในประเทศต่างๆ ใช้หลัก 3 ประโยชน์ คือ เกิดประโยชน์กับประเทศที่ลงทุน เกิดประโยชน์กับประเทศที่ไปลงทุน และเกิดประโยชน์กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงประเทศไทยได้ประโยชน์ด้วย และขณะนี้เครือซีพี ได้สร้างศูนย์ฝึกอบรมผู้นำ โดยคัดผู้บริหารจากกลุ่มงานต่างๆ มาอบรมจากพนักงานทั้งหมด 300,000 คน เพื่อสร้างคนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง และมีการกระจายอำนาจในกลุ่มผู้บริหาร โดยประยุกต์ความรู้จากอาจารย์ของแจ็ค เวลซ์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของบริษัทเจเนรัล อิเล็กทริคส์ หรือ GE มาใช้ให้เหมาะสมกับเอเชีย เพราะพนักงาน คือ มันสมองของธุรกิจ โดยพนักงานที่ดีต้องมีความสามารถ มีคุณธรรม
นายธนินท์ ยังเชื่อด้วยว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวได้เร็วที่สุด เนื่องจากสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า มีกฎหมายที่คล่องตัว ได้เปรียบประเทศอื่นๆ ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น จะฟื้นตัวเป็นประเทศที่สอง และมีโอกาสแซงหน้าสหรัฐฯ และเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกได้ หากญี่ปุ่นกล้าเสี่ยงทางธุรกิจมากขึ้น และปรับให้คล่องตัวมากขึ้น
ส่วนจีน จะฟื้นตัวเป็นประเทศที่สาม เพราะสถานการณ์การเมืองนิ่ง มีความต่อเนื่องของนโยบาย และเศรษฐกิจมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก โดยรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้เอกชนจีนกู้เงินเพื่อลงทุนธุรกิจ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลจีน ร้อยละ 60 มาจากเอกชน และอีกร้อยละ 40 มาจากรัฐวิสาหกิจ และในจีนเต็มไปด้วยธุรกิจสตาร์ทอัป โดยเฉพาะธุรกิจบริการ