บล.KTBST ประเมิน ปัญหาดอยช์แบงก์ ไม่ถึงขั้นล้มละลาย เพราะจะมีผลรุนแรงกว่าปี 2008 แต่ทำให้ตลาดผันผวน แนะชะลอลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป พร้อมจับตาตัวเลขว่างงานสหรัฐฯ คืนนี้ อาจส่งผลให้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น
นายชาตรี โรจนอาภา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (KTBST) เปิดเผยว่า จากกรณีที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เรียกร้องค่าปรับจากธนาคารดอยช์แบงก์ ซึ่งธนาคารอันดับหนึ่งของเยอรมนี เป็นจำนวน 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานความผิดที่จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (RMBS) อันเป็นต้นเหตุให้วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ช่วงปี 2008 ซึ่งจากรายงานข่าวล่าสุด ได้มีการเจรจากันระหว่างกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ และทางดอยช์แบงก์ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ดอยช์แบงก์ อาจจ่ายค่าปรับลดลงเหลือเพียง 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ปัจจุบัน ดอยช์แบงก์ มีเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นที่ 1 อยู่ที่ 12.2% ซึ่งหากจ่ายค่าปรับตามจำนวนดังกล่าว ดอยช์แบงก์ จะยังมีสัดส่วนเงินทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่าระดับมาตรฐานของ ECB ซึ่งอยู่ที่ 10.75% อย่างไรก็ดี จากการประเมินของ KTBST พบว่า หากดอยช์แบงก์ ต้องค่าปรับสูงกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป อาจทำให้เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงลดลงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และดอยช์แบงก์ อาจจะต้องทำการเพิ่มทุน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องจับตาดู คือ ยังมีอีกหลายกรณีที่มีการฟ้องร้องทางดอยช์แบงก์ ซึ่งต้องติดตามดูว่าจะส่งผลอย่างไร บล. KTBST มีมุมมองว่า ดอยช์แบงก์ เป็นธนาคารใหญ่อันหนึ่งของเยอรมนี และมีธุรกรรมกับธนาคารต่างๆ ทั่วโลกจำนวนมาก หน่วยงานกำกับดูแลนานาชาติที่เป็นคู่กรณีกับดอยช์แบงก์ ไม่น่าเรียกร้องค่าปรับจนทำให้ธนาคารมีปัญหาล้มละลาย หรือขาดสภาพคล่อง เพราะจะส่งผลกระทบรุนแรงไปสู่ตลาดการเงินทั่วโลก และอาจจะรุนแรงกว่าวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เมื่อปี 2008 ได้ นอกจากนี้ รัฐบาลเยอรมนียังได้เรียกร้องให้ธนาคารในเยอรมนีให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องให้แก่ดอยช์แบงก์ หากจำเป็น แต่เมื่อมีข่าวในด้านไม่ดีออกมา จึงมีผลกระทบต่อตลาดเท่านั้น ทำให้ตลาดเกิดความผันผวนจากข่าวที่ออกมาได้ ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุน บล. KTBST จึงแนะนำชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นยุโรปไปก่อน เพื่อรอดูความชัดเจนในเรื่องนี้
ขณะเดียวกัน Mario Draghi ประธานธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ได้ปฏิเสธข่าวที่ว่า ECB จะลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และได้ยืนยันว่า ECB จะดำเนินมาตรการ QE ต่อไปจนถึงกำหนดช่วงปลายเดือน มี.ค.ปีหน้า หรืออาจจะขยายเวลาออกไปหากพิจารณาเห็นว่าจำเป็น ขณะที่ตัวเลขยอดคำสั่งซื้อสินค้าจากโรงงานของเยอรมนี (Germany Factory Orders) ประจำเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้น 1% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 0.2% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน โดยยอดคำสั่งซื้อส่วนใหญ่ปรับเพิ่มขึ้นจากคำสั่งซื้อภายในประเทศ (2.6%) และกลุ่มประเทศยุโรป (4.1%) แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของประเทศเยอรมนี และระดับการบริโภคภายในประเทศ และกลุ่มประเทศยุโรปที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังต้องจับตามองถึงปัญหาของกลุ่มธนาคารอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน นักลงทุนจับตามองตัวเลขอัตราการว่างงาน และการจ้างงานนอกภาคการเกษร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันนี้ รวมถึงท่าทีของ Stanley Fischer ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของ FOMC ที่จะให้สัมภาษณ์ว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากตัวเลข และบทสัมภาษณ์ดังกล่าวอาจส่งผลต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยของ Fed ได้เร็วขึ้น
“บล.KTBST แนะนำซื้อสะสมตลาดหุ้นจีนที่ได้รับประโยชน์จากเม็ดเงินทุนเคลื่อนย้าย และทยอยขายทำกำไรตลาดหุ้นยุโรป จากปัญหาในกลุ่มธนาคารในยุโรป และน้ำมันดิบที่ปรับขึ้นทดสอบระดับสูงสุดของปี สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ บล.KTBST ยังคงแนะนำให้สะสมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และโครงสร้างพื้นฐาน และหุ้นกู้เอกชนไทย”