xs
xsm
sm
md
lg

“กกร.” ฟันธง GDP ปี 60 โต 3.5-4% ส่งออกโต 0-2% หลัง ศก.ปีนี้ดีกว่าคาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“กกร.” คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ ปรับ GDP ปีนี้โต 3.3-3.5% คงส่งออกตามกรอบเดิม -2%-0% ขณะที่ปี 2560 คาด GDP จะเติบโต 3.5-4% ส่วนส่งออก 0-2% เตรียมชงประเด็นเสนอ “สมคิด” บินเจรจา “อองซาน ซูจี” ระหว่าง 20-23 ต.ค.นี้ตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมแม่สอด-เมียวดี



นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ประธานประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) เมื่อวันที่ 4 ต.ค. กล่าวว่า กกร.ได้พิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2559 โดยได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) เป็น 3.3-3.5% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ 3.0-3.5% ขณะที่การส่งออกยังคงกรอบเดิมที่คาดว่าจะเป็น -2%-0% พร้อมกันนี้ยังได้มีการประเมินภาวะเศรษฐกิจในปี 2560 ที่จะเติบโตกว่าในปีนี้ โดยคาดว่า GDP จะโตอยู่ที่ 3.5-4% ขณะที่ส่งออกคาดว่าจะอยู่ในกรอบ 0-2%

“GDP ที่เพิ่มขึ้นปีนี้ผลมาจากแรงส่งของการใช้จ่ายจากภาครัฐ และการบริโภคครัวเรือนที่เริ่มได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าเกษตรที่ดีรวมถึงส่งออกเดือน ส.ค.ที่เป็นบวก แต่การส่งออกช่วงที่เหลือก็ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนจากเศรษฐกิจโลก แต่ในปี 2560 การลงทุนจากภาครัฐยังคงมีต่อเนื่องและการลงทุนเอกชนจะตามมา และปีหน้ามีปัจจัยของการส่งออกที่มองว่าการค้าชายแดนยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปที่น่าจะฟื้นตัว” นายอิสระกล่าว

นอกจากนี้ กกร.ยังได้หารือถึงการเดินทางไปเยือนพม่าของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 20-23 ต.ค. โดยจะมีการเข้าพบ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เพื่อหารือประเด็นเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างกัน โดย กกร.ได้จัดเตรียมประเด็นข้อเสนอแนะของเอกชนไทยเพื่อนำเสนอ อาทิ ด้านการค้า ได้แก่ การยกระดับจุดผ่านแดนและจุดผ่อนปรนให้เป็นจุดผ่านแดนถาวรและจุดผ่อนปรนพิเศษเช่นเดียวกับด่านสิงขร เพื่อเพิ่มการค้าชายแดนระหว่างกันมากขึ้น 2. การอนุญาตให้รถบรรทุกพม่าเข้ามาขนสินค้าในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จ.ตาก ได้เพื่อลดต้นทุนการเปลี่ยนถ่ายสินค้า

ด้านการลงทุน เสนอให้มีการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษร่วมแม่สอด-เมียวดีเพื่อส่งเสริมการใช้สิทธิประโยชน์ร่วมกันทั้งสองเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น GSP แรงงาน วัตถุดิบ ขณะที่การท่องเที่ยวจะเสนอให้เจรจาเดินรถส่วนบุคคลแบบทวิภาคีในช่องทางมัณฑะเลย์-ย่างกุ้ง-เมียวดี-แม่สอด-มุกดาหาร-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ เป็นต้น ด้านลอจิสติกส์ เสนอให้ปรับปรุงถนนเส้นทางเอ็งดู ตะโถ่ง ฯลฯ

พร้อมกันนี้ กกร.ยังได้เตรียมประเด็นเพื่อนำไปสู่การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ที่นายกฯ เป็นประธานที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพ กรอ.กลุ่มจังหวัด นโยบายคนเข้าเมืองเพื่อเตรียมความพร้อมไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาคลัสเตอร์ยานยนต์เพื่อความยั่งยืน แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทยเพื่อสนับสนุนให้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Local Content) มากขึ้น เป็นต้น

นายอิสระกล่าวว่า กกร.ยังได้หารือถึงผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยโดย WEF (The Global Competitveness Report 2016-2017) ซึ่งปีนี้ไทยถูกจัดอันดับที่ 34 (จาก 138 ประเทศทั่วโลก) ลดลงจากอันดับที่ 32 (จาก 140 ประเทศ) ในปี 2558 ซึ่งแม้อันดับจะลดลงแต่หากพิจารณาจากคะแนนยังคงเท่ากับปีก่อนที่ 4.65 คะแนน และเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนไทยยังลดลงต่ำมาก และเมื่อพิจารณาลงรายละเอียดความสามารถของเอกชนไทยยังมีโอกาสพัฒนาให้สูงขึ้น จึงมอบหมายให้คณะทำงานด้านความสามารถทางการแข่งขันศึกษาจุดอ่อนของเอกชนนำมาปรับปรุงเพื่อพัฒนาให้ตรงจุด และอะไรที่เกี่ยวข้องกับรัฐก็จะได้มีการนำเสนอเพื่อแก้ไขต่อไป

ส่วนกระแสข่าวที่ทางรัฐบาลจะให้ภาคเอกชนไปดำเนินการช่วยเหลือลูกจ้างของตนเองด้วยการให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น กกร.ยังไม่ได้มีการหารือและยังไม่เห็นรายละเอียดที่ทางรัฐบาลจะขอความร่วมมือจากภาคเอกชน และหากมีมาตรการดังกล่าวจริงจะเป็นการเพิ่มภาระให้ภาคเอกชนทั้งระบบหรือไม่ โดยคิดว่านายกรัฐมนตรีต้องการที่จะลดปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำในสังคมและเตรียมแผนรองรับจำนวนผู้สูงอายุในอนาคตข้างหน้า ซึ่งปกติภาคเอกชนรายใหญ่จำนวนมากมีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานอยู่แล้ว อาจจะมีเอกชนบางรายที่ไม่มีตรงนี้ แต่ก็มีสวัสดิการด้านอื่นๆ ทดแทน จึงต้องขอดูรายละเอียดจากทางภาครัฐก่อนว่าการให้จัดตั้งกองทุนดังกล่าวจะกำหนดมาตรการและเวลาหรือจะมีมาตรการผ่อนปรนหรือส่งเสริมกันอย่างไรเพื่อนำมาประกอบการพิจารณากันต่อไป

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ระบุถึงกรณีดอยช์แบงก์อาจถูกปรับเงินจากกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ มูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐนั้นจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อธนาคารพาณิชย์ของไทย เนื่องจากมีการรับรู้สถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว มองสาเหตุที่ทำให้เกิดความกังวลเนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ แต่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้และไม่ล้มอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยยังคงมีการทำธุรกรรมกับดอยช์แบงก์ปกติและมีแผนรับมือล่วงหน้าแล้วเช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น