กรุ๊ปลีส เข้าถือหุ้น 29.99% “Commercial Credit and Finance PLC” บริษัทไฟแนนซ์ชั้นนำ ได้รับใบอนุญาตจากธนาคารกลางศรีลังกา และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โคลัมโบ ผนึกกำลังเตรียมขยายตลาดครั้งใหญ่ จากเดิมที่ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อสำหรับการอุปโภคบริโภค ผ่านแพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์สู่ตลาดไมโครไฟแนนซ์ในระดับรากหญ้าในกลุ่มประเทศ CLMV+I
นายมิทซิจิ โคโนชิตะ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) หรือ GL แจ้งว่า บริษัทเข้าถือหุ้น 29.99% ใน Commercial Credit and Finance PLC หรือ CCF ครั้งนี้ ถือว่าเป็นการกระชับความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม โดยจะผสมผสานแพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์ที่มีต้นทุนต่ำ และประสิทธิภาพสูงของ GL กับโมเดลธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งของ CCF ในการขยายธุรกิจสู่ตลาดทุกแห่งที่บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต คาดว่าการเข้าถือหุ้นใน CCF ครั้งนี้จะสร้างผลกำไรต่อ GL ทันที เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 4 นี้ โดยประมาณการว่า GL จะสามารถบันทึกกำไรประมาณ 7 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
นายมิทซึจิ กล่าวชี้แจงเพิ่มเติมว่า GL ยังมีโอกาสซื้อหุ้นส่วนที่เหลืออีก 70% ใน CCF หากผู้ถือหุ้นปัจจุบันต้องการขายหุ้นในอนาคตภายใต้เงื่อนไขพิเศษ ซึ่งให้สิทธิลำดับแรกสำหรับ GL ที่ระบุไว้ในสัญญาผู้ถือหุ้นระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย การเข้าถือหุ้นใน CCF ซึ่งกลุ่ม GL ใช้เงินลงทุน 70 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) ครั้งนี้ ถือเป็นการรุกขยายธุรกิจครั้งใหญ่นอกกลุ่มประเทศอาเซียน โดยแต่เดิม GL ได้ขยายจากฐานธุรกิจในประเทศไทยสู่ประเทศข้างเคียง อาทิ กัมพูชา สปป.ลาว อินโดนีเซีย และล่าสุด เมียนมา
โดยประสบความสำเร็จเป็นอย่างดียิ่งในประเทศกัมพูชา ซึ่งสามารถสร้างผลกำไรได้มากกว่าผลกำไรจากธุรกิจในประเทศไทย ควบคู่กับการเข้าถือหุ้น CCF ในครั้งนี้ GLH ยังได้เพิ่มสัดส่วนการเข้าถือหุ้นในบริษัท BG Microfinance Myanmar Co Ltd (BGMM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ CCF ที่ดำเนินธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ในเมียนมา จากเดิม 71.9% เป็น 100% โดยซื้อหุ้นเพิ่มส่วนที่เหลืออีก 28.1% จาก CCF อีกด้วย
การเข้าถือหุ้นใน CCF ครั้งนี้จะส่งผลดีต่อผลประกอบการของกลุ่ม GL โดยรวมทันที เนื่องจากส่วนแบ่งกำไรจาก CCF จะถูกบันทึกตั้งแต่ในไตรมาส 4/59 โดย CCF เป็นบริษัทฯ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในศรีลังกา ที่มีผลกำไรดี และมีชื่อเสียงในฐานะที่เป็นบริษัทที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานในการบริหารจัดการในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ โดย CCF มีฐานสินทรัพย์ประมาณ 500 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับฐานสินทรัพย์ประมาณ 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ของ GL แต่มูลค่าตลาดของ GL สูงกว่า CCF เป็นอย่างมาก
เนื่องจากความแข็งแกร่ง และขนาดที่ใหญ่กว่าของตลาดหุ้นไทย เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของศรีลังกา ที่มีขนาดเล็กกว่าเป็นอย่างมาก สำหรับประมาณการกำไรสุทธิของ CCF ในปีนี้อยู่ที่ 22 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายมิทซึจิ กล่าวว่า GL จะส่งตัวแทนเข้าไปร่วมในบอร์ดของ CCF แต่จะให้คณะผู้บริหารชุดปัจจุบันมีอิสระในการบริหารต่ออย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้บริหารชุดปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงมาก “CCF เป็นบริษัทที่มีพัฒนาการมาอย่างยาวนานโดยมีการบริหารดีเยี่ยม ทางฝ่ายเราอาจจะช่วยเสริมด้วยธุรกิจเพิ่มเติม อย่างเช่น e-payment, e-commerce และประกันภัย”
สำหรับสัญญาการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้ถือว่ามีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2559 โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ การประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญของทั้ง 2 ฝ่าย และรายงานความถูกต้องของที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ โดยนายมิทซึจิ แสดงความมั่นใจว่า ข้อตกลงระหว่าง GL กับ CCF จะเป็นความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้ง 2 ฝ่าย
“แพลตฟอร์มดิจิทัลไฟแนนซ์ของเราจะเข้าไปช่วยเสริมศักยภาพความชำนาญ และโนว์ฮาวด้านไมโครไฟแนนซ์ ของ CCF และในขณะเดียวกัน CCF ก็มีความจำเป็นในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งฝ่ายเราสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี ด้วยขีดความสามารถของเราในการระดมทุนจากตลาดเงินทั่วโลก” นายมิทซึจิ กล่าว
นายมิทซึจิ กล่าวสรุปว่า การผนึกกำลังกับ CCF ครั้งนี้จะส่งผลอย่างดียิ่งต่อรายได้ และผลกำไรของ GL ในอนาคต เนื่องจากโมเดล group finance ซึ่งได้รับการพัฒนามาอย่างสมบูรณ์แบบในถิ่นกำเนิดไมโครไฟแนนซ์ในประเทศศรีลังกา และบังคลาเทศ จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพของ GL ต่อการขยายตลาดจากตลาดเช่าซื้อ และสินเชื่อ เพื่อการอุปโภคบริโภคเดิมไปสู่ตลาดไมโครไฟแนนซ์ระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากในภูมิภาคแถบนี้