xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเฮ สผ.กระจายอำนาจ กทม.อนุมัติ EIA

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอกชน เฮ สผ.กระจายอำนาจอนุมัติ EIA โยน กทม.พิจารณาเอง เอกชนหวัง กทม.ให้บริการวันสต็อปเซอร์วิส ลดขั้นตอนพิจารณาเหลือ 2-3 เดือน คาดดีเดย์ 1 ต.ค. 59 ด้านแสนสิริ ชี้ผลดีผู้ประกอบการลดต้นทุนการเงิน พร้อมเผยแผนลงทุนคอนโดฯ ไตรมาส 4 เปิด 4 โครงการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท

หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จะกระจายอำนาจการพิจารณาอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น ซึ่งในส่วนของกรุงเทพมหานคร (กทม.) คาดว่า จะเริ่มได้วันที่ 1 ต.ค.2559

นายอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) แสดงความคิดเห็นต่อกรณีดังกล่าวว่า จะส่งผลดีต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก เพราะหากกระจายอำนาจมาให้ กทม.พิจารณา คาดว่าจะเร็วขึ้น เพราะ กทม.จะรับผิดชอบเฉพาะโครงการที่อยู่ในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ เท่านั้น จากเดิมที่ สผ.จะเป็นผู้พิจารณาโครงการที่เข้าข่ายต้องยื่นอีไอเอ จากทั่วประเทศ บุคลากรมีจำกัด จึงทำให้งานพิจาณาค่อนข้างล่าช้า โดยกระบวนการนับจากตั้งแต่เริ่มซื้อที่ดินจนถึงก่อสร้างได้ จะใช้เวลาประมาณ 10 เดือน เริ่มจากเตรียมออกแบบ รายงาน 4 เดือน ยื่นรายงานขออนุมัติ EIA ประมาณ 5 เดือน รอออกเอกสารอย่างเป็นทางการจาก สผ.อีก 1 เดือน จากนั้น นำเอกสารไปยื่น 39 ทวิ เพื่อก่อสร้างใช้เวลาอีกราว 1 เดือน จึงจะได้ใบอนุญาตก่อสร้างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม เอกชนคาดหวังว่า เมื่อ กทม.เป็นผู้พิจารณาอนุมัติ จะสามารถให้บริการได้ครบวงจรแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เนื่องจาก กทม.ก็มีหน้าที่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอยู่แล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนหลังจากที่ได้รับอนุมัติรายงาน EIA หาก กทม.เป็นผู้พิจารณาอีไอเอ และออกใบอนุญาตก่อสร้างด้วย เชื่อว่ากระบวนการขอ EIA จนถึงการก่อสร้างจะเร็วขึ้นไม่เกิน 2-3 เดือน

สำหรับแนวคิดการกระจายอำนาจการพิจารณารายงาน EIA สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2557 แล้วว่า จะนำร่องการกระจายอำนาจดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ และภูมิภาคอีก 7 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อลดปัญหาการกระจุกตัว และคาดว่า เมื่อกระจายอำนาจแล้ว จำนวนรายงานที่จะต้องพิจารณาต่อปีจะลดลงครึ่งหนึ่ง

นายอุทัย กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมตลาดคอนโดมิเนียมในช่วงไตรมาส 4 จะคึกคักมาก เนื่องจากผู้ประกอบการต่างเร่งเปิดตัวโครงการใหม่จำนวนมาก ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจมีทิศทางที่ดีขึ้น กำลังซื้อที่ชะลอตัวมานาน จะเริ่มตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะตลาดระดับบน โดยคาดว่าปีนี้จะมีคอนโดฯ เปิดใหม่ประมาณ 50,000 ยูนิต ราคาเฉลี่ย 3-4 ล้านบาท ซึ่งนับว่าตลาดในปีนี้เปลี่ยนไปจากเมื่อปี 56-57 ที่ผ่านมา ที่ห้องชุดที่ขายได้ราคาเฉลี่ย 1-2 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่า ในปัจจุบัน ตลาดเป็นของสินค้าระดับกลาง-บน

ส่วนแผนลงทุนพัฒนาโครงการคอนโดฯ ของแสนสิริ ในไตรมาส 4 นี้มีแผนเปิดตัว 4 โครงการ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการ 98-Wireless, โครงการเดอะไลน์ 2 โครงการ และโครงการใน ซ.ทองหล่อ 12 อีก 1 โครงการ ซึ่งบริษัทคาดว่า จะสามารถสร้างยอดขายในไตรมาส 4 นี้ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมายที่วางเอาไว้ 20,000 ล้านบาท โดย ณ ปัจจุบัน บริษัทมียอดขายแล้ว 13,000 ล้านบาท.


กำลังโหลดความคิดเห็น