“โน๊ต” ศรัณย์ คุ้งบรรพต ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสรรหาและว่าจ้างบุคลากร บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา “ทำงานแบงก์-ร้องเพลง-ท่องเที่ยว-ธรรมะ” Balance ชีวิต ให้เวลากับการทำงานที่ชอบเกือบ 100% โชคดีที่ได้ทำงานที่ชอบ ดังนั้น Passion ของโน๊ต จึงมาเต็ม เพราะงานแบงก์เป็นงานที่ถูกจริตทำงานด้าน HR ของธนาคารกรุงศรีฯ มา 6 ปี เป็นงานที่ชอบ และสามารถทำได้ดี โดยมองเห็ดชัดเจนว่า สิ่งที่ทำส่งผลดีต่อองค์กร เช่น ปัจจุบันทำในตำแหน่งสรรหา และว่าจ้าง เมื่อทีมรับคนได้ดี เร็ว ช่วยปิดในตำแหน่งที่ว่างลงได้เร็วมากเท่าไร องค์กรก็จะบริหารไปได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงกลับไปตอบโจทย์ตัวเองที่ว่า ทำงานได้เห็น Impact องค์กร งานที่ทำอยู่โน๊ต จัดให้เป็นเบอร์หนึ่ง
“ส่วนเวลาที่ว่าง หรือวันหยุดจากงาน โน๊ต จะใช้เวลาที่สร้างความสุขให้กับตัวเองให้ กับคนอื่นด้วย คือ การร้องเพลง” เป็นงานที่โน๊ต รัก และทำมาตั้งแต่เด็กๆ จนถึงปัจจุบัน โน๊ต จะยินดี และมีความสุขทุกครั้งที่ไปร้องเพลงคอนเสิร์ตต่าง ไม่ว่าจะเป็น Charity Concert หรือคอนเสิร์ตอะไรก็ตามแต่ ถ้ามีโอกาสไปได้ และไม่รับกวนเวลางาน ไปแล้วมีประโยชน์ มีความสุขกับตัวเรา สร้างความสุขให้กับคนอื่นด้วย โน๊ต ไม่เคยปฏิเสธิเลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องค่าตอบแทน แค่รู้สึกว่าได้ไปทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ล่าสุด ได้ไปกับน้อง The Voice เป็น Charity Concert หาเงินก้อนหนึ่งเพื่อไปช่วยบ้านพักคนชรา โน๊ต ตอบตกลงทันทีโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น การร้องเพลง หรือคอนเสิร์ตแบบนี้ไม่ต้องเตรียมตัว หรือฝึกซ้อมกันมาก ทีมงานให้ร้องเพลงอะไรก็พร้อมที่จะไปช่วยเต็มที่” โน๊ต เล่าให้ฟังอย่างมีความสุข
โน๊ต จับไมค์ร้องเพลงตั้งแต่ 4 ขวบ เพราะที่บ้านจังหวัดนครสวรรค์ คุณป้าทำร้านอาหาร มีวงดนตรี วันหนึ่งอยู่ๆ ก็ขึ้นไปร้อง จำได้เลยว่า ทุกคนตบมือให้!!! พอเข้าโรงเรียนอนุบาลนครสวรรค์ ชั้นประถมปีที่ 3 อายุประมาณ 8 ขวบ มีการประกวด Thailand junior singing contest ของสยามกลการ ในปี 2534 ซึ่งถือว่าเป็นเวทีใหญ่ระดับประเทศ เป็นเรื่องที่ตลกมาก คุณครูประจำชั้นได้เดินเข้ามาหาโน๊ต แล้วถามว่า จะลองเข้าประกวดร้องเพลงเวทีนี้หรือไม่? จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการร้องเพลงจนถึงปัจจุบัน
โน๊ต จะเป็นเด็กที่เรียนดี ทำกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียนทุกครั้ง เพราะคุณแม่เป็นคุณครูสอนที่โรงเรียนนี้ด้วย จึงกล้าที่จะทำกิจกรรมต่างๆ แต่ไม่เคยมีกิจกรรมร้องเพลงเลย และไม่เคยเรียนร้องเพลงมาก่อน เมื่อครูประจำชั้นแนะนำให้ลองเข้าประกวด จึงตอบตกลง ซึ่งคุณพ่อกับคุณแม่ก็ขำขำ และตามใจให้ลองไปหาประสบการณ์ และต้องการให้โน๊ต เป็นคนที่กล้าแสดงออก โน๊ต จำได้เลย ได้ส่งเทปเข้ามาประกวดในเพลง “ต่อเวลา ของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์” จากเด็กทั่วประเทศเข้ามาประกวด 4,109 คน ผลปรากฏว่า โน๊ต เข้ารอบ 100 คน ซึ่งคุณพ่อ กับคุณแม่ก็พยายามพูดไม่ให้โน๊ต คาดหวังมาก ทำตัวตามสบาย ทำให้เต็มที่ เพราะหากผิดหวังมากลัวโน๊ต จะเสียใจ
ครูประจำชั้นเริ่มตื่นเต้นเมื่อผ่านรอบ 100 คนเข้ามาได้ เพราะจะเป็นชื่อเสียงของโรงเรียน แล้วก็ผ่านเข้ารอบ 60 คน จนมาทะลุเข้ามารอบ 20 คนสุดท้ายที่จะต้องออกโทรทัศน์ ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งในปี 2534 เป็นปีเดียวกับ “พี่แอน ธิติมา ประทุมทิพย์” “พี่ลุลา กันยารัตน์ ติยาพรไชย” เข้าประกวดด้วย และตอนประกวดก็จะเป็นเพื่อนๆ ที่อยู่ในแก๊งเดียวกัน ปัจจุบันทั้ง 2 ท่านได้เป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงกันหมด ในรอบชิงชนะเลิศคุณแม่ คุณพ่อ เริ่มชัดเจนเรียกโน๊ต เข้ามาคุย ช่วยเหลือกันคนละไม่ละมือ โทรศัพท์ไปที่โรงเรียนสอนร้องเพลงเพื่อขอเรียน ซึ่งครูก็ไม่รับ เพราะมีเด็กที่เรียนอยู่ด้วยติด 20 คนแล้ว ทำให้ต้องกลับมาเตรียมความพร้อมกันเอง ซ้อม เลือกเพลง เสื้อผ้า ทำทุกอย่างกันเอง
โน๊ต เลือกเพลง “คิดถึง” ของหรั่ง ร๊อกเคสตร้า เป็นเพลงที่คุณแม่ และหลายท่านไม่สนับสนุน เพราะเป็นเพลงที่ร้องยาก ใช้พลังเยอะมาก ต้องการให้เลือกร้องเพลงพี่เบิร์ด ที่ใช้ร้องประกวดมาในรอบคัดเลือกตลอด ถึงที่สุดเมื่อโน๊ต ยืนยันที่จะร้องเพลงคิดถึง ทุกท่านก็ตามใจ และให้กำลังใจ เป็นเรื่องที่แปลกมากทุกครั้งที่ซ้อมร้องเพลงคิดถึง เสียงแหบ เสียงแห้งตลอด จนซ้อมใหญ่ก็ร้องไม่ดี ผลสุดท้ายโน๊ต ขึ้นเวทีประกวดคิดว่า ทำเต็มที่ และทำอย่างความสุข สุดท้ายผลออกมาชนะเลิศ ได้เป็น “นักร้องยุวชนยอดเยี่ยมปี 2534” ซึ่งรอบนี้คนที่นครสวรรค์ ทำเสื้อทีมมาเชียร์ 3 รถบัส เป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่ามีแฟนคลับ และปี 2535 ยุวชนยอดเยี่ยม คือ “อมิตา ทาทา ยัง” หลังจากนั้นก็เข้าประกวดรุ่นผู้ใหญ่ KPN AWARD ปี 2001 และมีโอกาสเข้าประกวดนักร้องของเอเชีย ปัจจุบัน โน๊ต ร้องเพลงหลักร่วมกับวง BSO Bangkok Symphony Orchestra
ท่องเที่ยวถ่ายรูป
การทำงานอย่างเต็มที่ทุกๆ วัน โดยเฉพาะงานอย่างโน๊ต ที่จะต้องแตะกับตัวบุคคล ที่เกิดจากความคาดหวัง ทั้งคนที่เดินเข้ามาหา คนในองค์กร ผู้บริหาร ทุกคนมีความคาดหวังไม่เหมือนกัน ดังนั้น โน๊ต ต้องหาเวลาที่พักเหนื่อย คือ การท่องเที่ยวกับครอบครัว เพื่อน ที่สนิทจริงๆ โน๊ต จะสรรหาสถานที่ท่องเที่ยวที่เราไม่เคยรู้จัก หรือเป็นสถานที่มีความทรงจำเก่าในวัยเด็ก ไปเชียงใหม่ กับเพื่อนๆ ก็จะไปหาในจุดที่เราไม่เคยไป เพื่อถ่ายรูปในมุมมองที่ไม่เคยเห็น หรือบางทีกลับไปในสถานที่ในวัยเด็กย้อนกลับไปนึกถึงยังเป็นความทรงจำอยู่ โน๊ต เข้าไปเที่ยวในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นสถานที่ในวัยเด็กที่ยังจำได้ว่า เคยเข้าค่ายเป็นยุวชนประมาณ 1 เดือน ทำให้นึกถึงบรรยากาศวัยเด็ก โน๊ต ใช้เวลาอยู่ครึ่งวันถ่ายรูปนั่นนึกถึงเรื่องในวัยเด็ก เป็นความสุข และได้พักผ่อนเต็มอิ่ม
การใช้เวลาพักของโน๊ต คือ พักจริงๆ ชัดเจนพักผ่อน คือ พักผ่อนท่องเที่ยวแบบสุดๆ เพราะการไปเที่ยวกับครอบครัว คุณพ่อ คุณแม่ หรือกับเพื่อน คงไม่แฟร์เวลาเที่ยวออกมานั่งเล่นมือถือ หรือเช็กงานต่างๆ แต่จะขอใช้เวลาเที่ยวของแต่ละวันประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อเช็กอีเมลว่ามีเรื่องด่วนหรือไม่ หากมีเรื่องด่วนจริงๆ ได้บอกกับทีมว่า สามารถโทรศัพท์เข้ามาได้โดยไม่ต้องเกรงใจ เพราะโน๊ต ว่างเรื่องงานเป็นอันดับหนึ่งอยู่แล้ว นอกจากนี้ โน๊ต เริ่มฝึกเล่นกล้องถ่ายรูปได้ประมาณ 1 ปี จุดเริ่มต้นชอบถ่ายรูป ตอนเรียนที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ธนาคารได้ส่งไปเรียนต่อ ก็เป็น Movement ตอนนั่นมี Pressure มีความคาดหวังจากธนาคารที่ส่งไปเรียนหลายอย่าง ความกดดันนี้แหล่ะเป็นผลักดันให้ต้องรู้จักพัก รู้จักหาอะไรอย่างอื่นทำนอกจากเรียนและงานบ้าง จึงออกท่องเที่ยวในสหรัฐอเมริกาช่วงเสาร์-อาทิตย์ และอยากเก็บความสวยงามแบบนี้ไว้ จึงเริ่มเล่นกล้องง่าย Fuji X-A2 พอเห็นภาพที่โน๊ต ถ่ายเองก็ภูมิใจ มีความสุขที่เห็นฝีมือเราออกมาแล้วหลายคนชื่นชม ทำให้เริ่มมาศึกษา และหาซื้อเลนส์เข้ามาเพิ่มเติม ตอนนี้เรียกว่าจริงจังมาก ในทางทฤษฎีถือว่ายังไม่เก่ามากนัก แต่ก็พอรู้ว่าแบบนี้ควรจะใช้เลนส์อะไร มุมไหน
นำธรรมมะมาปรับใช้ในทุกช่วงชีวิต
โน๊ต ได้มีคำสอนจากคุณพ่อมาตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเป็นบทสอนะธรรมะบทหนึ่ง และจำได้ขึ้นใจ “ให้ละเอียดกับตัวเองมากกว่าที่จะไปจุกจิกกับคนอื่น” อันนี้เป็นเรื่องที่คุณพ่อสอนมาแต่เด็ก และได้มาลองปรับใช้กับตัวเองตั้งแต่เริ่มทำงาน เราจะละเอียดกับตัวเอง ทำอะไรพลาดแล้วต้องแก้ไข มากกว่าที่จะมาจ้องจับผิดกับคนอื่นๆ ประเด็น คือ “เราเปลี่ยนแปลงใครไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเราได้” เป็นสิ่งที่โน๊ต ใช้เตือนสติตลอดเวลา การเข้าถึงะธรรมะเป็นแบบของโน็ต ที่อาจจะไม่ลึกซึ้งถึงขั้นบวช นั่งสมาธิ มากนัก
จุดเปลี่ยนที่ทำให้โน๊ต นึกถึงธรรมมะมากที่สุด คือ มีเพื่อนรักคนหนึ่งเรียนอักษร จุฬาฯ ด้วยกันมา เป็นผู้หญิงที่เก่ง พูดภาษาจีนคล่องแคล่ว ทำงานที่ดี ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง อยู่ๆ ก็เกิด Turning Point โกนหัวบวชชี เปลี่ยนเข้าวัดบนเกาะสีชัง ห่างไกลทางโลกออกไปมาก โน๊ต รู้สึกว่า เสียเพื่อนไปเลย รู้สึกใจสลาย และโกรธเพื่อนมาก ทิ้งเวลาทำใจซักระยะหนึ่งก็ได้ไปเยี่ยมเพื่อน เปลี่ยนไปมาก พอเห็นแล้วรู้สึกเลยว่า เราได้เสียเพื่อนคนเก่าไปแล้ว แต่ก็มีจุดหนึ่งที่ทำให้โน๊ต คิดได้ คือ “เพื่อนมีความสุข” สิ่งที่เราไปกังวลแทนเพื่อนนั้น เป็นสิ่งที่เพื่อนมีความสุข และเพื่อนได้แนะนำให้รู้จักกับหลวงตาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก ตั้งแต่นั้นมา ชีวิตโน๊ต เริ่มเข้าใกล้ธรรมมากขึ้น
การสนใจธรรมะในแบบของโน๊ต ที่ไม่ดูหนักจนเกินไป ที่ต้องสวดมนต์ นั่งสมาธิ แต่จะรู้แก่นของศาสนาเป็นอย่างไรแล้วนำมาปรับเปลี่ยนให้เข้ากับการทำงานได้ อย่างคำสอนบทหนึ่งของท่านพุทธทาส ภิขุ “ทำงานให้ได้งาน” ไม่ต้องไปคิดไกลว่า ทำงานแล้วจะได้ลาภยศ สรรเสริญ เงินทอง เอาแค่ง่ายๆ ทำงานให้ได้งาน เพราะถ้าคิดไกลเพิ่มเติมขึ้นมา จะเกิดการเปรียบเทียบ ใจจะเริ่มแกว่ง บ้างครั้งถึงจุดที่ “เราไม่สบายใจแล้วหาไม่เจอว่าเรื่องอะไร?” มันเยอะไปหมด ซึ่งเป็นจุดทำให้เป็น Wake up call ของเราทำให้เราตื่น กลับมาใช้คำสอนที่ว่า “ทำงานให้ได้งาน”
ทุกวันนี้ โน๊ต ต้องขอบคุณทุกๆ คนที่ผลักดันสนับสนุนให้โน๊ต อยู่ใน Environment เหล่านั้น ได้ยืนมาอยู่จุดนี้ ทำงานที่รัก ได้ร้องเพลงทำให้สิ่งที่ตัวเองรัก ทุกวันนี้โน๊ต เหมือนเป็นคน 2 โลกอยู่ในร่างเดียวกัน โลกของการทำงาน Corporate เราอยู่ในแบงก์ก็จะอีกสไตล์หนึ่ง วิธีคิด มุมมองต่างๆ แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในโลกของการร้องเพลง ก็จะอีกแบบหนึ่ง เฮฮา ใครก่อนหลังไม่มีประเด็น ความคิด วิถีชีวิตก็จะอีกแบบหนึ่ง ส่วนตัวโน๊ต เองก็นำมา Balance กันให้ได้ โน๊ต ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหา หรือเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่โน๊ต คิดเป็นจุดยืน คือ สติ และกาลเทศะ คือ รู้ปัจจุบันนี้สวมหมวกอะไรอยู่แล้วทำหน้าที่ให้เต็มที่ พอมีเรื่องธรรมะเข้ามาช่วยทำให้ 2 โลกนี้กลมกลืนกันด้วย แก่น คือ การทำงาน ทั้งคู่