“บัญชีกลาง” สั่งหน่วยงานรัฐเร่งจัดซื้อจัดจ้างโครงการเล็กวงเงินไม่เกิน 2 ล้าน ให้จบภายใน ก.ย.นี้ ลงมือเบิกจ่ายทันทีในเดือน ต.ค. ประเดิมต้นปีงบ 60 อัดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้น ศก.ช่วงไตรมาสสุดท้ายปี 59 ขณะที่ “คลัง” อัดสารพัดมาตรการกระตุ้นเอกชนลงทุน เน้นการลดหย่อนภาษี มั่นใจ ศก.ไตรมาส 3 เติบโตได้สูงกว่าไตรมาสที่ 2 อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเติมเงินเข้าสู่ระบบ ศก.ของรัฐบาล ขณะที่ภาคประชาชน และภาคเอกชน ก็มีการเร่งลงทุนดีขึ้น ทำให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น และการบริโภคฟื้นตัว
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของงบประมาณปี 2559 ล่าสุด ณ วันที่ 19 ส.ค.59 วงเงิน 5 แสนล้านบาท เบิกจ่ายได้ 66% จากเป้าหมาย ทั้งปีต้องเบิกจ่ายให้ได้ 87% ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียง 25 วัน ทำการของปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะเบิกจ่ายงบลงทุนได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ งบประมาณปี 2559 ตั้งเป้าการเบิกจ่ายงบประจำให้ได้ 98% งบลงทุน 87% และการเบิกจ่ายในภาพรวมให้ได้ 96%
อย่างไรก็ตาม หากรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย เงินลงทุนตำบลละ 5 ล้านบาท เงินลงทุนหมู่บ้านละ 2 แสนบาท และการลงทุนโครงการขนาดเล็กวงเงิน 1.49 แสนล้านบาท เบิกจ่ายไปได้แล้ว 1.28 แสนล้านบาท หรือ 85% จะส่งผลให้ภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนของประเทศทั้งหมดในปีงบประมาณ 2559 สูงกว่า 80% ใกล้เคียงกับเป้าหมายการเบิกงบลงทุนที่ตั้งไว้
นายมนัส กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้กำชับกับหน่วยราชการให้เร่งเบิกจ่ายงบเหลื่อมปีงบประมาณ 2559 ซึ่งเป็นงบดำเนินการ 2.7 หมื่นล้านบาท งบลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท ให้ดำเนินการเบิกจ่ายภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 จากเดิมที่ให้ถึงสิ้นเดือนมีนาคมของปีงบประมาณถัดไป เพราะรัฐบาลต้องการให้มีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
สำหรับการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2560 ที่จะเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 ทางกรมบัญชีกลางได้ทำหนังสือถึงหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจ ให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดเล็กไม่เกิน 2 ล้านบาทให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ เมื่อเริ่มเดือน ต.ค.59 จะได้ทำการเบิกจ่ายได้ทันที และเบิกจ่ายให้ทันตามที่รัฐบาลกำหนดไว้ภายในวันที่ 31 ธ.ค.ปีนี้ เพื่อเร่งเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงปลายปีให้ได้มากที่สุด
ขณะที่โครงการลงทุนที่เกิน 2 ล้านบาท แต่ไม่ถึง 1,000 ล้านบาท ให้ทำสัญญาก่อหนี้ให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2560 และโครงการที่เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้ทำสัญญาก่อหนี้ภายในไตรมาสสองของปีงบประมาณ 2560 หากดำเนินการไม่ทัน รัฐบาลก็จะพิจารณาตัดงบดังกล่าวเพื่อไปใช้ในโครงการอื่นที่มีความพร้อมมากกว่า เหมือนกับดำเนินการในช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา
โดยในวันที่ 9 กันยายน 2559 กรมบัญชีกลางจะเริ่มจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงเด็กแรกเกิด ในอัตราเดือนละ 400 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้รับสิทธิโดยตรง ผ่านทางระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ทั่วประเทศ โดยจะมีเด็กที่ได้รับสิทธิดังกล่าวจำนวนทั้งสิ้น 8.5 หมื่นคน คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 34 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการนำร่องที่กรมบัญชีกลางจ่ายเงินสวัสดิการจากภาครัฐให้กับประชาชน และจะขยายผลไปยังเงินสวัสดิการอื่นๆ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้พิการ
ด้านนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยในไตรมาสแรกของปีนี้ตัวเลขเศรษฐกิจขยายตัวได้ 3.2% และไตรมาส 2 ขยายตัว 3.5% โดยในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะขยายตัวได้ไม่น้อยกว่าไตรมาสที่ 2 อย่างแน่นอน ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ภาคประชาชน และภาคเอกชนก็มีการเร่งลงทุนดีขึ้นบ้าง ทำให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น และการบริโภคฟื้นตัว
“รัฐบาลยังต้องเร่งกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นลงทุนจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการลงทุนจำนวนน้อย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกชนไม่ทราบ โดยเฉพาะมาตรการลดหย่อนภาษี 2 เท่า สำหรับการลงทุนในปีนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในสิ้นปีนี้ หรือเหลือเวลาอีก 4 เดือน ที่เอกชนจะสามารถเข้ามาลงทุนได้ เนื่องจากการหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า นอกจากจะไม่ต้องจ่ายภาษีแล้ว ยังได้เงินจากรัฐบาลไปลงทุนอีกด้วย”
นอกจากนี้ รัฐบาลยังส่งเสริมการลงทุนเอกชนในเรื่องของการทำวิจัย และพัฒนาเป็นพิเศษ เพราะถือว่ามีความสำคัญกับเศรษฐกิจ โดยผู้ประกอบการลงทุนวิจัยพัฒนา สามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 3 เท่า โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาออกกฎหมายขยายสิทธิของมาตรการนี้