ศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน มิ.ย.59 ปรับตัวขึ้นต่อ โดยเพิ่มขึ้น 5.12 จุด หรือเพิ่มขึ้น 9.23% มาอยู่ที่ 60.57 จุด ซึ่งปัจจัยหนุนสำคัญยังอยู่ที่การอ่อนค่าของค่าเงินบาท รวมถึงแรงซื้อเก็งกำไร และความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้น ส่วนปัจจัยกดดันสำคัญอยู่ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่า และทิศทางดอกเบี้ย Fed ที่ยังเป็นขาขึ้น ด้านผู้ค้าทองส่วนใหญ่ยังมองราคาทองคำปรับขึ้นมีเป้าหมายสูงสุดที่ 22,000 บาท แนะผู้ลงทุนควรลงทุนระยะสั้นหลังยังมีความผันผวนจากภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2559 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนมิถุนายน 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5.12 จุด หรือเพิ่มขึ้น 9.23% สู่ระดับ 60.57 จุด สูงกว่าระดับ 50 จุด ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ซึ่งมีความเห็นสอดคล้องกันทั้งผู้ค้าทองคำ และนักลงทุน โดยปัจจัยหนุนสำคัญ คือ การอ่อนค่าของค่าเงินบาท หลังจากที่ภาวะเศรษฐกิจไทยยังเป็นเชิงลบ รวมถึงแรงซื้อเก็งกำไร และความต้องการทองคำที่เพิ่มมากขึ้นหลังมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องของกองทุน SPDR ส่วนปัจจัยสำคัญอยู่ที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงก่อนหน้า และทิศทางดอกเบี้ยของ Fed ที่ยังเป็นขาขึ้น
ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้า พบว่า สัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 ลดลงมาอยู่ที่ 36.97% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้ เพิ่มขึ้นมาที่ 29.58% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 0.16 จุด มาอยู่ที่ระดับ 58.51 จุด ยังสะท้อนมุมมองเชิงบวก
ขณะที่บทสรุปความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 8 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่า ราคาทองคำในประเทศเดือนมิถุนายน 2559 จะยังมีโอกาสปรับขึ้นต่อ โดยมีผู้ค้า 4 ราย มองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนมิถุนายน 3 ราย มองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนพฤษภาคม และมีเพียง 1 ราย เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนมิถุนายน
โดยผู้ค้ามองว่า ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,240-1,260 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,180-1,200 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,500-22,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
สำหรับการลงทุนทองคำในช่วงนี้ยังคงแนะนำเป็นการลงทุนในระยะสั้น หลังจากที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงมีความผันผวน โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed ที่อาจถูกเลื่อนออกไป หลังจากที่ตัวเลขการจ้างงานสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่คาดมาก แต่หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงเวลาถัดไปยังแสดงสัญญาณฟื้นตัว จะทำให้ประเด็นดังกล่าวกลับมากดดันราคาทองคำอีกครั้ง