xs
xsm
sm
md
lg

EIC Conference 2016 แนะจับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน…แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนาประจำปีชี้แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน และภาคประชาชนจับตากลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่ได้รับอานิสงส์ ทั้งท่องเที่ยว ICT และการลงทุนกลุ่มประเทศลำน้ำโขง ผลักดันเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบก้าวกระโดด

น.ส.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ กล่าวในงานสัมมนา “EIC Conference 2016: จับตาการลงทุนภาครัฐ-เอกชน…แรงส่งเศรษฐกิจระลอกใหม่” ณ ห้องคริสตัลฮอลล์ ชั้น 3 โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน โดยประเด็นที่สำคัญ ได้แก่ สืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกปัจจุบันยังคงชะลอตัวจากวิกฤติการเงินโลกเมื่อ 8 ปีก่อน และยังไม่มีประเทศใดที่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจเหมือนในอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายประเทศ เช่น การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ภาระหนี้ที่สูง รวมไปถึงเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ความต้องการในการใช้จ่าย และการลงทุนหดหายไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยโลกลดต่ำลงจนอยู่ในระดับเดียวกับยุค Great Depression ที่เศรษฐกิจโลกซึมเป็นเวลานานก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตาม ในสภาวการณ์เช่นนี้ อีไอซี มองว่า ทางรอดเดียวสำหรับเศรษฐกิจไทย คือ การใช้มาตรการทางการคลัง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การสร้างโครงสร้างพื้นฐานจะต้องสอดคล้องต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับเปลี่ยนโครงสร้างไปสู่การพัฒนาธุรกิจภาคบริการมากขึ้น

ทั้งนี้ อีไอซีแนะว่า การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวควรที่จะเข้าไปสนับสนุนธุรกิจภาคบริการที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง 3 ด้าน ได้แก่

1.ธุรกิจท่องเที่ยว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทางภาครัฐได้มีการวางแผนขยาย และก่อสร้างสนามบินเพิ่มเติมเพื่อรองรับต่อจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ดี การลงทุนสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานในด้านอื่นๆ ก็ควรที่จะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน เช่น การพัฒนาระบบสาธารณูปโภค รวมถึงระบบการรักษาความปลอดภัยและป้องกันอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยว และสำคัญที่สุด เพื่อให้ธุรกิจท่องเที่ยวเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ควรเพิ่มการลงทุนเชิงสถาปัตยกรรมให้รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งจะมีสัดส่วนสูงขึ้นในอนาคตอีกด้วย

2.ธุรกิจ ICT ปัจจุบันไทยมีการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดผ่านสมาร์ทโฟน และอีคอมเมิร์ซ ประกอบกับระบบ National e-Payment และเทคโนโลยียุคใหม่ อย่าง Internet of Things (IoT) จะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ “สังคมดิจิตอล” อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ดี โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ทั้งในด้านจำนวนคลื่นความถี่ ความครอบคลุมของอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และกฎหมายด้านดิจิตอลของไทยกลับยังตามหลังประเทศคู่แข่งในอาเซียนอย่างมาเลเซีย และสิงคโปร์มาโดยตลอด ดังนั้น ไทยจึงควรเร่งปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวเพื่อให้ประเทศสามารถพัฒนาธุรกิจนี้ได้อย่างเต็มที่

3.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องต่อการเติบโตของ CLMV ขณะที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะชะลอตัว แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างไทย และกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) กลับเติบโตอย่างสวนทางกัน สะท้อนจากมูลค่าการลงทุน และการค้าชายแดนที่ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม ทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศเพื่อเชื่อมต่อกับกลุ่มประเทศดังกล่าวที่ทางภาครัฐกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน รวมถึงภาคธุรกิจบริการต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และค้าส่งค้าปลีก ซึ่งหากภาครัฐสามารถวางแผนพัฒนาพื้นที่รายรอบโครงการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณจุดตัดระหว่างเส้นทางคมนาคมต่างๆ จะทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ

“การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อภาคบริการจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับขีดความสามารถของเศรษฐกิจไทยให้มีความพร้อม และก้าวเป็นผู้นำของธุรกิจบริการในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอีไอซีเชื่อมั่นว่า เป็นแนวทางที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี อนาคตของเศรษฐกิจไทยนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจของภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของเราในครั้งนี้เป็นกระสุนที่มีอานุภาพสูง ช่วยให้เศรษฐกิจไทยก้าวข้ามอุปสรรค ไปสู่อนาคตที่แข็งแกร่งกว่าปัจจุบันได้”
กำลังโหลดความคิดเห็น