xs
xsm
sm
md
lg

“คอลลิเออร์ส” ชี้โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ตลาดเช่าจับ SME มาแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สุรเชษฐ กองชีพ
“โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ” รูปแบบใหม่พื้นที่สำนักงานมาแรง ระบุตลาดเช่ารูปแบบฉีกแนวตลาดเช่าเซอร์วิสออฟฟิศ มินิ-ออฟฟิศ และโฮมออฟฟิศ ทางเลือกใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการหาพื้นที่ทำงาน

นายสุรเชษฐ กองชีพ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดอาคารสำนักงานในกรุงเทพมหานครในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มีอัตราว่างเฉลี่ยน้อยกว่า 10% ต่ำที่สุดในช่วงมากกว่า 10 ปี ทำให้ค่าเช่าปรับเพิ่มขึ้นตลอดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งค่าเช่าที่สูงขึ้นในทำเลที่ไม่ไกลจากเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของบริษัทขนาดเล็ก สตาร์ท อัป และ SME

ทั้งนี้ จากการที่ธุรกิจสตาร์ท-อัป หรือ SME ซึ่งอาจจะยังไม่พร้อม หรือมั่นใจพอที่จะเช่าพื้นที่ในอาคารสำนักงาน ดังนั้น โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ ที่ต้องการพื้นที่ทำงานที่ดูเป็นทางการกว่าที่บ้าน แต่ไม่จริงจังแบบพื้นที่สำนักงานในรูปแบบเดิม และมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับการทำงาน รวมทั้งมีภาพลักษณ์ที่ดูดี สำหรับโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เป็นออฟฟิศที่มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายมากกว่าเซอร์วิสออฟฟิศ และที่สำคัญที่สุด คือ มีค่าเช่าที่ต่ำกว่า ซึ่งโดยทั่วไปจะมีสิ่งอำนวยความสะดวกแบบพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเป็นพื้นที่ทำงาน เช่น โต๊ะทำงาน ระบบ Wi-Fi ความเร็วสูง ห้องประชุม และอุปกรณ์สำนักงานอื่นๆ

“โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในหลายปีก่อนหน้านี้ทั่วโลก ผู้ใช้ส่วนใหญ่ คือ คนที่สามารถทำงานผ่านอินเทอร์เน็ต รวมทั้งพวกฟรีแลนซ์ และธุรกิจสตาร์ท อัป และมีจำนวนไม่น้อยที่ผู้ใช้เป็นนักท่องเที่ยวที่สามารถทำงานที่ใดก็ได้ที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตได้ ดังนั้น รูปแบบของโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ จึงเป็นที่ยอมรับในวงกว้างไปทั่วโลก ทำให้จำนวนของโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และทั่วเอเชีย รวมทั้งในประเทศไทย”

ทั้งนี้ ความนิยมของโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ในประเทศไทยเริ่มมีมากขึ้นตามกระแสโลก โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เริ่มมีขึ้นในกรุงเทพมหานคร ในปี 55 หลังจากที่พื้นที่รอบนอกโดนน้ำท่วมในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 54 คนจำนวนมากไม่สามารถเดินทางไปทำงานที่บริษัท ดังนั้น จึงทำงานที่บ้านแทน หลังจากนั้น โค-เวิร์คกิ้ง สเปซ จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในกรุงเทพมหานคร ซึ่งสอดรับต่อจำนวนของฟรีแลนซ์ หรือคนที่สามารถทำงานที่บ้านได้เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ มีความเหมาะสมต่อคนที่ทำงานในกลุ่มนี้

ที่ผ่านมา ผู้ให้บริการโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ ในประเทศไทยขยายการให้บริการของตนเองไปในทำเลใหม่ และมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมา รวมทั้งมีการร่วมทุนกับพันธมิตรอื่นๆ โดยเฉพาะในอนาคตอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งในเรื่องนี้ นายสุรเชษฐ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า การยอมรับว่าโค-เวิร์คกิ้ง สเปซ เป็นอีกรูปแบบของสถานที่ทำงานจะขยายไปในวงกว้างมากขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งในตลาดอาคารสำนักงานเท่านั้น ผลกระทบที่อาจจะมีต่ออาคารสำนักงานแบบทั่วไป คือ การออกแบบ หรือว่าการจัดการอาคารสำนักงานที่จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น คงไม่เหมือนผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อโครงการค้าปลีกแบบเดิมๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของชอปปิ้งออนไลน์”


กำลังโหลดความคิดเห็น