xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของ ศก.ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือน พ.ค.อยู่ที่ 93.48 ลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ระบุนโยบายขึ้น ดบ.ของเฟด บั่นทอนความเชื่อมั่นนักลงทุน อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของ ศก.ในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นต่อเนื่อง และต้องติดตามปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในเดือน ส.ค.นี้

นายคเณศ วังส์ไพจิตร ผู้อำนวยการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเดือนพฤษภาคม ซึ่งสะท้อนความเชื่อมั่นนักลงทุนอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 93.48 ปรับตัวลดลงร้อยละ 9.01 จากดัชนีเดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 102.74 ซึ่งเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นยังอยู่ในกรอบทรงตัว โดยนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลงถึงระดับซบเซา อยู่ที่ 77.78 ลดลงถึงร้อยละ 30 ตามมาด้วยกลุ่มนักลงทุนรายบุคคล อยู่ที่ 94.46 ลดลงร้อยละ 6.65 สวนทางกลุ่มสถาบันในประเทศ อยู่ที่ 109.38 ปรับขึ้นร้อยละ 9.38

สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน คือ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เป็นปัจจัยฉุดรั้งความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด โดยเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สร้างความกังวลให้นักลงทุนทุกประเภท อย่างไรก็ตาม นโยบายภาครัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังคงเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นต่อเนื่อง และต้องติดตามปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะการลงมติร่างรัฐธรรมนูญในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนกลุ่มที่น่าลงทุน คือ หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง ขณะที่หมวดธนาคาร เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน

นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า นักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักเรื่องแนวโน้มเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุด แต่เมื่อตัวเลขการจ้างงานเดือนพฤษภาคมออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้คาดว่า เฟดยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 14-15 มิถุนายนนี้ บวกกับเดือนพฤศจิกายนนี้จะมีการเลือกตั้งสหรัฐฯ และยังมีความไม่แน่นอนเรื่องอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งจะมีการลงมติวันที่ 23 มิถุนายนนี้ อาจจะเป็นเหตุให้เฟดยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้

นายสมประวิณ มันประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัยเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.2 แต่ยังมีความกังวลเรื่องการบริโภค และการลงทุนในประเทศที่เติบโตต่ำ ขณะที่การส่งออกยังเป็นปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าหดตัวร้อยละ 1-2 อย่างไรก็ตาม ภัยแล้งที่บรรเทาลง และการผลักดันมาตรการระยะยาวของภาครัฐ ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการลงทุนร่วมระหว่างรัฐ และเอกชนจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภายในประเทศ บวกกับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเติบโตดีถึงร้อยละ 9-10 จำนวนนักท่องเที่ยว 33 ล้านคน จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยให้ได้ตามเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น