xs
xsm
sm
md
lg

TMB ขยายหลักประกันเอสเอ็มอี รับ พ.ร.บ.เสริมสภาพคล่องธุรกิจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ทีเอ็มบี เผยสินเชื่อเอสเอ็มอี 5 เดือนแรกยังแผ่วโตแค่ 1-2% หวังครึ่งปีหลังดีขึ้น พร้อมออก “สินเชื่อหลักประกันธุรกิจทีเอ็มบี” นำร่องรับใช้ พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจที่จะมีผล 2 ก.ค.นี้

นายไตรรงค์ บุตรากาศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (ทีเอ็มบี) เปิดเผยว่า แนวโน้มสินเชื่อเอสเอ็มอีครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้ดีกว่าในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวได้เพียง 1-2% จากโครงการลงทุนของภาครัฐที่น่าจะทยอยออกมา และจะเห็นผลอย่างชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายของปี โดยขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในปีนี้ยังเพิ่มขึ้นบ้างแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าในปีหน้าจะดีขึ้นสอดคล้องต่อภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่

“ธุรกิจเอสเอ็มอีในปีนี้เราไม่ได้เน้นเป้าหมายทางด้านสินเชื่อเนื่องจากเศรษฐกิจไม่เอื้อ แต่เน้นไปที่รายได้ค่าธรรมเนียมที่ตั้งเป้าหมายเติบโต 15% และ 5 เดือนที่ผ่านมา ก็เติบโตประมาณ 8% ซึ่งธนาคารก็ได้ติดตามแนวโน้มต่างๆ เพื่อจะได้ทบทวนถึงเป้าหมายทางธุรกิจต่างๆ ต่อไป”

นอกจากนี้ ธนาคารได้ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลักประกันธุรกิจทีเอ็มบี เพื่อเป็นการรองรับพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ.2558 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2559 นี้ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถนำทรัพย์สินที่มี “มูลค่าทางเศรษฐกิจ” อันได้แก่ 1.กิจการ 2.ลูกหนี้การค้า 3.สังหาริมทรัพย์ใช้ประกอบธุรกิจ 4.อสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ 5.ทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นหลักประกันเพิ่มเพื่อของสินเชื่อได้ จากเดิมที่จำกัดอยู่แค่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น

นายไตรรงค์ กล่าวอีกว่า ทีเอ็มบีถือเป็นธนาคารแห่งแรกที่ออกสินเชื่อหลักประกันธุรกิจทีเอ็มบีเพื่อรองรับ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งเหมาะต่อสภาวะที่ค่อนข้างลำบากของเอสเอ็มอีในขณะนี้ เนื่องจากเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถนำทรัพย์สินไปประกอบธุรกิจได้ตามปกติ โดยในช่วงเริ่มต้น ทีเอ็มบีได้ให้บริการเพิ่มสินทรัพย์ค้ำประกันใน 3 กลุ่ม คือ ลูกหนี้การค้า สต๊อกสินค้า และสิทธิการรับเงิน ในวงเงินเพิ่มสูงสุด 20% จากวงเงินเดิม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีจะปล่อยกู้สินเชื่อดังกล่าวได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท

“สินทรัพย์ค้ำประกันที่เพิ่มเข้ามาในเบื้องต้นเป็น 3 กลุ่มที่ว่า เพราะเป็นกลุ่มที่มีมูลค่าทางบัญชีให้ประเมินได้ ในส่วนของกลุ่มอื่นๆ อย่างทรัพย์สินทางปัญญา หรือแบรนด์ ยี่ห้อนั้น ยังคงมีปัญหาในการตีมูลค่า ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อให้มีหลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐาน คาดว่าจะออกมาภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ เพราะ พ.ร.บ.ดังกล่าวจะมีผลในต้นเดือนหน้าแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น