ภาครัฐ-เอกชน หนุนข้อตกลงคุณธรรม รมว.คลัง ยอมรับหากมีการคุมการทุจริตโครงการลงทุน ลดหลีกเลี่ยงภาษีสำแดงราคาเท็จ จะดึงเงินกลับมาได้นับแสนล้าน เล็งปรับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างเพื่อให้มีมาตรฐานสากลมากขึ้น ยอมรับกฎหมายดังกล่าวมีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ มักอ้างว่าขัดขวาง ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างล่าช้าไม่คล่องตัว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ข้อตกลงคุณธรรม” โดยระบุว่า ได้สั่งการให้กรมจัดเก็บภาษีคุมเข้มการหลบเลี่ยงภาษี หลังจากกรมสรรพากร รณรงค์ให้เอกชนจัดทำบัญชีเดียว ทำให้รับรู้ยอดขายสินค้ากระทบไปยังยอดนำเข้าสินค้าผ่านกรมศุลกากร เพราะยังมีผู้หลีกเลี่ยงภาษีอีกจำนวนมาก การหลีกเลี่ยงภาษีเป็นการคอร์รัปชันประเภทหนึ่ง และเมื่อจัดทำบัญชีเดียวแล้วจะเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันทุกหน่วยงาน
หลังจากนี้เป็นต้นไป กรมศุลกากร เตรียมฐานราคาสินค้าจากทั่วโลกมาเปรียบเทียบการสำแดงราคาสินค้านำเข้า ส่งออก เพราะหากแจ้งราคาต่ำกว่าราคามาตรฐานทั่วโลกจะถูกตรวจสอบ อีกทั้งยังต้องเน้นการเอกซเรย์ตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบน้ำหนักสินค้าตรงต่อความจริงที่สำแดงหรือไม่ และเดินหน้าตรวจเช็กแหล่งกำเหนิดสินค้า โดยมักอาศัยใช้สิทธิประโยชน์จากข้อตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอฟ) ของกลุ่มประเทศต่างๆ มาสำแดงเท็จ
นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า หลังจากนำระบบ E-Bidding มาใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา ช่วยประหยัดงบประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 15 อีกทั้งการนำภาคเอกชนเข้ามาร่วมติดตามโครงการลงทุนถือเป็นสิ่งที่ดี เพื่อป้องกันการรั่วไหล เนื่องจากรัฐบาลมีโครงการลงทุน 500,000 ล้านบาทต่อปี หากเกิดปัญหารั่วไหลประมาณร้อยละ 10 เป็นเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินดังกล่าวสามารถนำไปพัฒนาด้านต่างๆ ได้อีกหลายด้าน เนื่องจากการประมูลผ่าน E-Bidding เอกชนจะไม่เห็นหน้า และไม่รู้ว่าใครร่วมประมูล จึงฮั้วประมูลกันไม่ได้ หากร่วมมือกันป้องกันทั้งการทุจริตโครงการลงทุน การหลีกเลี่ยงภาษี คาดว่าจะทำให้นำเงินกลับมาพัฒนาประเทศได้นับแสนล้านบาท
สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง เมื่อหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วจะนำเสนอ ครม.อีกครั้งสัปดาห์หน้า เพื่อให้กฎหมายดังกล่าวมีมาตรฐานสากลมากขึ้น ยอมรับว่ากฎหมายดังกล่าวมีทั้งคนชอบ และไม่ชอบ มักอ้างว่าขัดขวาง ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปอย่างล่าช้าไม่คล่องตัว คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศบังคับใช้อีกประมาณ 3 เดือน โดยจะมีคณะกรรมการคุณธรรมเพื่อให้บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมติดตามโครงการลงทุน และจะทำให้โครงการลงทุนมีความโปร่งใสมากขึ้น
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลาง และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกันจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติ เรื่องข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) เพื่อสร้างความเข้าใจต่อส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และผู้สังเกตการณ์ถึงหลักการ และแนวทางการจัดทำข้อตกลงคุณธรรม รวมถึงให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันระหว่างผู้สังเกตการณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การจัดทำข้อตกลงคุณธรรมเกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมต่อไปในอนาคต ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558-2559 มีโครงการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ทั้งสิ้น 26 โครงการ จาก 24 หน่วยงาน มูลค่า 55,933 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีรูปแบบการจัดซื้อจัดจ้างซับซ้อน และแตกต่างกัน เช่น โครงการเปลี่ยนผ่านการส่งโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิตอล ระยะ 2 และระยะ 3 ของกรมประชาสัมพันธ์ วงเงิน 1,700 ล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องจักรของโรงงานยาสูบแห่งใหม่ วงเงิน 7,649 ล้านบาท และโครงการโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร วงเงิน 3,011 ล้านบาท เป็นต้น งานสัมนาครั้งนี้ได้มีผู้สังเกตการณ์อยู่ในบัญชีรายชื่อทั้งสิ้น 100 ราย เพื่อร่วมแสดงความเห็น และมีส่วนร่วมในการติดตามแผนลงทุนของรัฐ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ข้อตกลงคุณธรรมเป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) เพื่อป้องกันการทุจริตในโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ยอมรับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ระดับสากลมีการนำมาใช้กว่า 20 ประเทศ จึงต้องการให้เป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการขับเคลื่อนข้อตกลงคุณธรรมของไทย