ธปท.ส่งเสริมธนาคารพาณิชย์ปรับตัวรองรับระบบฟินเทค ขณะที่ผู้บริหารแบงก์เตรียมพร้อมเพื่อรองรับระบบใหม่ หลังประชาชนตื่นตัวต่อการใช้เทคโนโลยีบริการทางการเงินมากขึ้น ย้ำต้องลงทุนด้านระบบไอทีให้มีความปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา Fintech Vs Bank Thai ใคร Fin โดยระบุว่า ธปท.ได้ศึกษาระบบไฟแนนเชียล เทคโนโลยี (ฟินเทค) มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งฟินเทคได้เข้ามามีบทบาทต่อระบบธนาคารพาณิชย์มากขึ้น และถือเป็นเรื่องดีที่ธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวรองรับเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพราะปัจจุบัน มีหลายธุรกิจที่พัฒนาเข้าสู่ฟินเทค ทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม นางทองอุไร ยอมรับว่า ธปท.ยังกังวลว่าผู้บริโภคจะเข้าใจระบบการทำธุรกรรมการเงินผ่านเทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ธนาคารจะต้องสร้างความเข้าใจแก่ผู้บริโภคทุกกลุ่ม ซึ่งธนาคารพาณิชย์จะต้องลงทุนวางระบบไอทีให้มีความปลอดภัยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
นอกจากนี้ ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินได้วางกฎระเบียบตามแผนแม่บทพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 ครอบคลุมสถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (Non-Bank) ให้สามารถพัฒนาระบบร่วมกันได้ ไม่ใช่แข่งขันกันเอง และมองว่าภายใน 5 ปี ทุกสถาบันการเงินจะต้องเชื่อมโยงการให้บริการครอบคลุมทั่วโลก ไม่ใช่แค่ให้บริการในไทยเพียงอย่างเดียว
ขณะเดียวกัน ทุกสถาบันการเงินจะต้องพัฒนาระบบไอทีรองรับนโยบายระบบระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ ใช้ Any Id เป็นฐานข้อมูล ซึ่งการพัฒนาระบบไอทีของธนาคารจะต้องเป็นระบบที่ดี ถูก และปลอดภัย เพื่อดึงให้คนเข้าสู่ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น
ด้าน นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนมีความตื่นตัวต่อการใช้เทคโนโลยีทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น เป็นไปตามพฤติกรรมของประชาชนที่เข้าสู่ยุคดิจิตอล มีหลายธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำธุรกรรมต่างๆ ซึ่งแต่ละธนาคารก็มีพัฒนาการทำธุรกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการทางเทคโนโลยี เช่น อินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง อีมันนี่ ขณะที่บริษัทการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินก็ปรับตัวเพื่อให้ทำธุรกรรมการเงินผ่านเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน
พร้อมกันนี้ ยังเห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งเดินหน้าโครงการเนชั่นแนล อีเพยเมนต์ จะทำให้ลดปริมาณการใช้เงินสดในระบบ และหันมาชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินก็เตรียมระบบไว้รองรับ โดยเฉพาะการใช้ Any Id จะสามารถนำข้อมูลตัวบุคคลมาเป็นรหัสผ่านในการชำระเงิน หรือโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ สร้างความสะดวกให้แก่ประชาชนมากขึ้น และยืนยันว่า การใช้ธุรกรรมทางการเงินมีความปลอดภัย โดยในวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ทุกธนาคารจะเริ่มใช้ Ship card ทำให้มีความปลอดภัยมากขึ้น ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมยืนยันว่าจะเป็นไปตามกลไกตลาด
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบัน ลูกค้าของธนาคารหันมาทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต แบงกิ้ง โมบาย แบงกิ้งเพิ่มขึ้นจำนวน 2 หลัก โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มักจะใช้บริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต ขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุยังทำธุรกรรมผ่านทางเคาน์เตอร์ของธนาคาร ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า ทุกกลุ่มจะต้องมีการปรับตัวเพื่อรับต่อเทคโนโลยีสมัยใหม่เพิ่มขึ้น
ขณะนี้ทุกสถาบันการเงินต้องปรับตัวพัฒนาธุรกรรมทางเงิน รวมถึงต้องเตรียมตัวรองรับระบบการชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ให้สอดคล้องต่อนโยบายของรัฐที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลควรเร่งส่งเสริมให้ประชาชนเข้าใจระบบเนชั่นแนล อีเพย์เมนต์ และจูงใจให้คนเข้ามาใช้บริการนี้มากขึ้นด้วย พร้อมยืนยันว่า ผู้ที่ใช้ระบบอีเพย์เมนต์ในการชำระสินค้าจะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกลง เนื่องจากการลงทุนเพื่อพัฒนาระบบของธนาคารไม่ได้สูงอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา ลูกค้าของธนาคารมีสัดส่วนการทำธุรกรรมผ่านโมบาย แบงกิ้งขยายตัวถึงร้อยละ 40-50 ขณะที่การทำธุรกรรมผ่านสาขา และตู้เอทีเอ็มไม่มีการขยายตัว และมีแนวโน้มจะหดตัวในอนาคต
ดังนั้น ธนาคารจึงมีความพร้อมในการให้บริการระบบฟินเทคแล้ว โดยในปีนี้คาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ 2-3 บริการ ในรูปแบบของการชำระเงินเป็นหลัก ซึ่งฟินเทคจะช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของธนาคารลงอย่างมาก ซึ่งคาดว่าจะเห็นผลในระยะยาว แม้ว่าค่าใช้จ่ายในช่องทางอิเล็กทรอนิกส์จะสูงกว่าเคาน์เตอร์ แต่อัตราการขยายตัวของผู้ใช้บริการยังเติบโตต่อเนื่อง ซึ่งทางธนาคารจัดงบลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนยีฟินเทคปีละ 5,000 ล้านบาท พร้อมมองว่าค่าธรรมเนียมการให้บริการมีแนวโน้มปรับลดลง