ธปท.ยอมรับบาทแข็งค่า 3% จากต้นปี ชี้เป็นความผันผวนตามปัจจัยต่างประเทศ ย้ำติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด หากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท.ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน
น.ส.วชิรา อารมย์ดี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ โดยล่าสุด เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นบ้างโดยเคลื่อนไหวที่ราว 34.80-35.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามสภาพของตลาดที่ดีขึ้น หลังราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นเหนือ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ว่าจะยังไม่รีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ สอดคล้องต่อเงินสกุลภูมิภาคอื่นๆ ที่แข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในรูปดัชนีค่าเงินบาท จะเห็นว่าได้ปรับอ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบจากสิ้นปีก่อน สะท้อนว่าเงินบาทไม่ได้แข็งค่ามากไปกว่าเงินสกุลคู่ค้าคู่แข่งของไทย ขณะที่ความผันผวนเฉลี่ยของเงินบาทในปีนี้อยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 ก็ยังอยู่ในลำดับกลางๆ ของภูมิภาคเช่นกัน ซึ่งสะท้อนว่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ
ด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พบว่า มีเงินทุนไหลเข้าในหลักทรัพย์สุทธิประมาณ 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเข้าตลาดหุ้นประมาณ 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเข้าตลาดพันธบัตรอีกประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเข้าซื้อพันธบัตรระยะสั้น โดยภาวะเงินทุนไหลเข้าดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเช่นกัน
แม้ในระยะนี้สถานการณ์ของตลาดการเงินโลกจะกลับเข้ามาสู่ภาวะที่นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่ในอนาคตก็ไม่ได้มีอะไรที่รับประกันได้ว่า จะไม่มีความผันผวนเกิดขึ้น เพราะหนทางข้างหน้าทุกคนก็ยังคาดว่า ธนาคารกลางต่างๆ ก็ต้องปรับให้อัตราดอกเบี้ยเข้าสู่ภาวะปกติ ราคาน้ำมันก็ยังเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงยังควรต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับในส่วนของ ธปท.ก็จะติดตามสถานการณ์ในตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และหากเงินบาทเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับตัวของภาคเศรษฐกิจจริง ธปท.ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลเสถียรภาพในตลาดการเงิน