ทีพีบีไอ เหนือจอง 3.50 บาท จากราคา IPO ที่ 10.80 บาท มูลค่าซื้อขาย 878.17 ล้านบาท โบรกฯ แนะซื้อเก็งกำไร ประเมินราคาเหนือ 11 บาท
หุ้นของ บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ TPBI เข้าซื้อขายวันแรก โดยเปิดเทรดวันแรกราคาอยู่ที่ 14 บาท เพิ่มขึ้น 3.20 บาท หรือ 29.63% จากราคาขาย IPO ที่ 10.80 บาท มูลค่าซื้อขายที่ 878.17 ล้านบาท และเมื่อปิดตลาดพบว่า ราคาหุ้นอยู่ที่ 14.30 บาท เพิ่มขึ้น 3.50 บาท ระหว่างวันราคาหุ้นปรับขึ้นไปสูงสุดที่ 14.60 บาท ต่ำสุดที่ 13.60 บาท มูลค่าซื้อขาย 3,304.50 ล้านบาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ทิศทางกำไรสุทธิของ TPBI ในปี 59-61 จะเติบโตเฉลี่ย 7.4% จากปริมาณขายถุงพลาสติก ฟิล์ม และบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องต่อการเติบโตของ GDP และประชากรโลก ประเมิน Fair Value ที่ 13.50 บาท อิงค่า PER เฉลี่ย 12.8 เท่า และ PBV 2.1 เท่า ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยของหุ้นในอุตสาหกรรมถุงพลาสติก
บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯ แนะ “ซื้อเก็งกำไร” หุ้น บมจ.ทีพีบีไอ (TPBI) ประเมินราคาพื้นฐาน 11.11-12.13 บาท เพราะ TPBI เป็นผู้นำอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ครบวงจรระดับโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม มีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล ตอบสนองลูกค้าอุตสาหกรรม และห้างโมเดิร์นเทรด และซูเปอร์มาร์เกตชั้นนำทั่วโลก สินค้าพลาสติก คือ หูหิ้วที่บรรจุสิ่งของ ถุงขยะที่ใช้ในครัวเรือนทั้งแบบชนิดม้วนและพับ ถุงพลาสติกชีวภาพ และบรรจุภัณฑ์พลาสติกชนิดอ่อนที่ถูกนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องต่างๆ เช่น อาหาร ปัจจุบัน เน้นการส่งออกสัดส่วนส่งออกต่อขายในประเทศปี 58 เป็น 66% : 34% อัตราเติบโตกำไรสุทธิระหว่างปี 55-58 เฉลี่ย CAGR เป็น 46% เราประเมินว่าอัตราการเติบโตกำไรปี 59 เป็น 11% ที่ 404 ล้านบาท ด้วยรายได้ที่เพิ่มขึ้น 3% และอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 15.5% ผลพวงจากใช้เม็ดพลาสติก recycle จากบริษัทเองในสัดส่วนมากขึ้น คิดเป็น P/E ณ ราคา IPO ที่ 10.7 เท่า หากกำหนดให้ Forward P/E เป็น 11-12 เท่า ใกล้เคียงกับกลุ่ม (ไม่นับ AJ, TFI ที่สูงไป)
โดยมีจุดเด่น เน้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการผลิต รุกขยายตลาดบรรจุภัณฑ์ครบวงจร รวมถึงขยายตลาดผลิตภัณฑ์ และบรรจุภัณฑ์มูลค่าสูงเพื่อดำรงความเป็นผู้นำอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ระดับโลก และสามารถผลิตสินค้าป้อนความต้องการของตลาดโลก และรองรับการขยายตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกไปยังตลาดใหม่ๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ตลาดอาเซียน และแอฟริกา จากเดิมที่มีตลาดส่งออกหลักอยู่ในประเทศออสเตรเลีย อียู สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น รวมถึงการผลักดันการเติบโตของสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ที่มูลค่าสูง (High Value-Added Products) อีกด้วย