ราคาทองคำในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวขึ้น 37 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ หรือคิดเป็น 3.02% ปิดที่ระดับ 1,259 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยมีปัจจัยที่เข้ามากระทบได้แก่ รายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book จากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้บ่งชี้ถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอน + สหรัฐฯ รายงานตัวเลขรายได้ต่อชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวลดลงในเดือน ก.พ. ชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค.แสดงให้เห็นว่าภาวะเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นข้อมูลที่เฟดให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ ทำให้คาดการณ์ว่าเฟดอาจจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมช่วง 15-16 มีนาคมนี้ + สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐฯ (ISM) เปิดเผยผลสำรวจที่ระบุว่า ภาคบริการของสหรัฐในเดือน ก.พ.มีการขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบ 2 ปี รวมถึงรายงานยอดการขาดดุลการค้าสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน ม.ค. โดยยอดส่งออกสินค้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับแต่เดือน พ.ย.2010 + การนำเข้าลดลงสู่ระดับต่ำสุดนับแต่เดือน ก.พ.2011 ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงเป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำ
อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือน ก.พ.เพิ่มขึ้นมากกว่าคาด และอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.9% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 8 ปี + ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งชี้วัดกิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนปรับลดลงในเดือน ก.พ.ได้เพิ่มความคาดหวังว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมในการประชุมวันที่ 10 มี.ค.นี้ รวมถึงการคาดการณ์ว่า ประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่จะตกลงกันได้ในการปรับลดกำลังการผลิตในการประชุมในเดือนมีนาคมนี้จะสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ
ปัจจัยที่น่าติดตาม
8 มี.ค.สหรัฐฯ เปิดเผยสินเชื่อผู้บริโภคเดือน ม.ค. / สต๊อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งเดือน ม.ค.
อียูเปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไตรมาส 4/2558
9 มี.ค.สหรัฐฯ เปิดเผยสต๊อกสินค้า และยอดค้าส่งเดือน ม.ค.
10 มี.ค. สหรัฐฯ เปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกรายสัปดาห์
10 มี.ค.กำหนดประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)
15-16 มี.ค. กำหนดประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ
แนวโน้มปรับขึ้นต่อ/แนวโน้มราคาทองโลกด้านเทคนิค
ราคาทอง แกว่งตัวขึ้นตามกันกับแนวรับขาขึ้นเส้นค่าเฉลี่ย 5 และ 10 วัน การเรียงตัวแท่งเทียนยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น ทำให้ราคามีแนวโน้มปรับขึ้นต่อ อย่างไรก็ตาม ค่าสัญญาณ RSI สร้างสัญญาณ BEARISH DIVERGENCE เกิดขึ้นเป็นแรงกดดัน ทำให้ช่วงการขึ้นจะมีความผันผวน แนวรับ 1,210/1,205 แนวต้าน 1,300/1,305