MGR Online - ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มองสื่อโซเชียลบูม คือ ความท้าทายของนายธนาคารกลางต้องชั่งน้ำหนักก่อนนำเสนอข้อมูล หวั่นเนื้อหาถูกขมวดสั้น ส่งต่อกันแค่พาดหัวจนขาดความสมดุล แนะอย่าใส่ความรู้สึกปนลงไปในเนื้อข่าว
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงมุมมองการทำหน้าที่ของสื่อ เนื่องในวันนักข่าว 5 มีนาคมว่า อยากให้ความสำคัญต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารด้านเศรษฐกิจที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงมากขึ้น โดยไม่ใส่ความรู้สึกปะปนลงไปในเนื้อข่าว อย่างเช่นหนังสือพิมพ์ด้านเศรษฐกิจระดับโลกที่ผู้คนอ่านกันมาก และเป็นที่ยอมรับกัน คือ “Financial Times” ที่ค่อนข้างเน้นเนื้อหาข้อเท็จจริง โดยมีวิธีการพาดหัวข่าวค่อนข้างเป็นกลาง ไม่ใส่ความเห็นของ Rewriter ลงไปในเนื้อหาของข่าว
“จุดนี้ผมมองว่าแตกต่างจากสื่อของไทย อีกทั้ง Rewriter เองก็ไม่ใช่คนที่มาสัมภาษณ์ หรือฟังการแถลงข่าว การรายงานข่าวชิ้นนั้นจึงขึ้นอยู่กับว่าใครในสำนักพิมพ์ที่จะเป็นคน Rewrite ในขั้นตอนสุดท้าย ขณะเดียวกัน บางข่าวที่ถูกเขียนด้วยนักข่าวคนเดียวกันแต่เมื่อถูกส่งต่อไปยัง 2 สำนักพิมพ์ ในขั้นตอนสุดท้ายเมื่อผ่านการ Rewrite ออกมา จึงทำให้พาดหัวข่าวแตกต่างกันไปคนละทาง ที่สำคัญทุกวันนี้หัวข้อข่าว หรือพาดหัวข่าวเป็นส่วนที่ถูกนำไปทวีตส่งต่อกันใน Social Media”
“ภายใต้ภาวะที่มีความผันผวนสูงมาก ผมจึงอยากเห็นการเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง เน้นการนำเสนอกรอบความคิดมากขึ้น มากกว่าส่งต่อเนื้อหาที่ผ่านกระบวนการใส่ความเห็นไปแล้ว หรือลดการเสนอข่าวหวือหวาที่นำอารมณ์ความรู้สึกปะปนแฝงเข้าไปอยู่ในเนื้อหาของข่าว”
นายวิรไท กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อไทยมีความหลากหลาย และขยายตัวขึ้นมาก ในขณะที่มีความเปลี่ยนแปลงของการบริโภคสื่อที่ความนิยมของผู้บริโภคสื่อเปลี่ยนไปรับผ่าน Social Media มากขึ้น จึงถือเป็นความท้าทาย แต่ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ได้เกิดเฉพาะในสื่อของไทยแต่เป็นกระแสที่เกิดขึ้นกันทั่วโลก
“วิธีการบริโภคสื่อจาก Social Media ทำให้เนื้อหาทุกอย่างถูกขมวดลงเป็นข้อความสั้นๆ แต่ในข่าวสารที่มีเนื้อหาในเชิงนโยบาย หรือเรื่องราวที่มีความซับซ้อน มีที่มาที่ไป มีข้อดี-ข้อเสีย มีรายละเอียด ข่าวสารแบบนี้กลับไม่มีช่องทางมากพอที่จะนำเนื้อหาทั้งหมดสื่อสารไปยังคนรุ่นใหม่ได้ เพราะจากพฤติกรรมบริโภคสื่อที่เปลี่ยนแปลงไป บางเรื่องที่มีความเป็นสีเทาอยู่มาก แต่เมื่อถูกเขียนเป็นหัวข้อข่าวด้วยประโยคสั้นๆ จากเรื่องราวสีเทาจะกลับกลายเป็นสีขาว หรือสีดำไปเลย ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายมากของผู้นำนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างนายธนาคารกลางว่า ควรนำเสนอข้อมูล หรืออธิบายถึงข้อดี-ข้อเสียอย่างไร โดยต้องผ่านการตริตรองชั่งน้ำหนักมาอย่างดี เพราะเมื่อถูกนำไปเสนอในพื้นที่สื่อแล้วเนื้อหาอาจถูกทำให้หนักไปด้านใดด้านหนึ่งจนขาดความสมดุลได้”
ยกตัวอย่างเช่น กรณีการนำเสนอข่าวผ่านช่องทางทวิตเตอร์ข่าวสารทั้งหมดมีอยู่ 5-6 ข้อความ แต่อาจมีเพียง 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 6 ที่ถูกคนนำไป Retweet ต่อ จึงทำให้ผู้รับสารได้รับเนื้อหาแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น จุดนี้จึงถือเป็นความท้าทายในการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อทำให้ผู้บริโภคสื่อมีความเข้าใจที่ถูกต้อง
“สิ่งที่ผมไม่อยากเห็น คือ คนเขียนข่าวมีการ Snapshot แล้วส่งถึงผู้บริโภค แต่กลับทำให้ผู้รับสารไม่เข้าใจ Logic วิธีคิด และกระบวนการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้คนได้ติดตามเรื่องราวต่อไปได้ จึงเป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องกำหนด Policy guide สร้าง Expectation อย่างเรื่องง่ายๆ คนสนใจเพียงแค่ว่าแบงก์ชาติจะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งการบริโภคข่าวจบลงแค่นี้ แต่ละเลยกระบวนการคิดที่นำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวว่าจะมีผลอย่างไร สิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าแค่การ Snapshot กันว่า วันนี้จะลดหรือไม่ลดอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น เมื่อพื้นที่สื่อน้อยลง จึงต้องไปนำเสนอผ่าน Opinion Leader จำพวกบทวิเคราะห์ หรือรายงานต่างๆ แทน ซึ่งการเข้าถึงข่าวสารข้อมูลถูกจำกัดลงแค่คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่สำหรับผู้บริโภคสื่อส่วนใหญ่แล้ว เมื่อวิธีการที่ใช้สื่อสารถูกบีบให้ขมวดลงสั้นๆ การเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดจึงยากขึ้น”
นายวิรไท กล่าวว่า ในระยะหลังคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในสื่อของไทยยังถูกผนึกเข้ากับสภาพแวดล้อมของการแข่งขันที่สูงขึ้น มีการเกิดขึ้นของดิจิตอลทีวีจนเกิดการแย่งบุคลากรกัน ทั้งยังถูกกดดันให้ปรับรูปแบบการสื่อข่าวผ่าน Social Media ในลักษณะข้อความเพียงสั้นๆ มากขึ้น ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าคุณภาพของคนทำสื่อ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีความเข้าใจประเด็นต่างๆ ลดน้อยลง แม้กระทั่งสื่อด้านเศรษฐกิจ จากสภาพการแข่งขันที่สูงอาจส่งผลให้การพัฒนาบุคลากรตามไม่ทันประเด็นทางเศรษฐกิจที่ทุกวันนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น ทั้งในฝั่งของผู้กำหนดนโยบาย และยังมีหลายหน่วยงานเชื่อมโยงประสานกัน จนทำให้คนรุ่นใหม่เข้าใจในประเด็นที่นำเสนอยากยิ่งขึ้น