นาถ ลิ่วเจริญ ประธานกรรมการบริหาร (Chief Executive Officer) กลุ่มบริษัท ซีดีจี และกลุ่มบริษัทจีเอเบิล ทายาทรุ่นที่ 2 ของบริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีสัญชาติไทย โดยกลุ่มบริษัท ซีดีจี และจีเอเบิล เป็นบริษัทไอทีที่เติบโตอย่างมั่นคงมาเป็นระยะเวลากว่า 48 ปี โดยเริ่มต้นจากการที่คุณพ่อของนาถ ได้เทกโอเวอร์ บริษัท คอนโทรล ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทด้านไอทีที่สมัยนั้นทุกคนรู้จัก คือ คอมพิวเตอร์ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่เข้ามาใช้กับบริษัท หรือหน่วยงานต่างๆ ต่อมาในเจเนอเรชัน 2 อย่างเขา มีการเปลี่ยนแปลงของไอทีอย่างรวดเร็วมากจนถึงปัจจุบันอย่างไม่มีวันหยุด มีหลายๆ อย่าง หลายองค์ประกอบ รวมถึงการเติบโตของไอทียังคงมีอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน และอนาคตเชื่อว่าธุรกิจไอทียังคงมีความจำเป็น และสำคัญมากสำหรับทุกๆ องค์กร เทคโนโลยีสมัยนี้ ทุกองค์กรนำมาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน เป็นอาวุธที่จะต่อสู้กับคู่แข่งของทุกภาคอุตสาหกรรม
นาถ เล่าให้ฟังด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม ผมเข้ามาตอนปี 1986 ซึ่งเป็นช่วงของการเติบโต เปลี่ยนแปลงของตลาดไอทีอย่างมาก มีหลายอย่างเข้ามา บริษัทใหม่ เทคโนโลยีใหม่ บุคลากรใหม่ บริษัทก็เริ่มเติบโต และขยายไปตามตลาด ตามลูกค้า ซึ่งจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ทำธุรกิจใหม่ๆ แตกไลน์ออกไปจากเดิม ใช้วิธีบริหารแตกแล้วโต มีบริษัทในเครือมากกว่า 10 บริษัท เรียกว่ามีครบวงจรด้านไอที มีทั้งโปรดักต์ ซอฟต์แวร์ และบริการ ฯลฯ ซึ่งตัวที่ทำให้เราต้องแตกบริษัทออกไป คือ เทรนด์ของเทคโนโลยี
แต่พอถึงจุดที่เรามาทบทวนถึงการเติบโตแล้วแตกออกแบบนี้ จนบางครั้งมีงานบางจุดที่เข้าไปทับไลน์กันบ้าง ดังนั้น เราจึงได้ปรับองค์กรครั้งใหญ่ โดยการแยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มซีดีจี และจีเอเบิล เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เพื่อการโฟกัสในแง่ลูกค้าให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คือ บริษัทซีดีจี จะดูแลรับงานอยู่ในภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ แล้วก็โซลูชันบางอย่าง เช่น ทำบัตรประชาชน แผนที่ ระบบตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) กรมการขนส่ง ผังเมือง ภูมิศาสตร์ ฯลฯ ส่วนบริษัทจีเอเบิล มุ่งเน้นตลาดที่เป็นเอกชนทั้งหมด เช่น คมนาคม ธนาคาร การเงิน พลังงาน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการศึกษา และอื่นๆ หลังจากที่มีการแบ่งกลุ่มบริษัทออกมาทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่น มีเป้าหมายที่ชัดเจน
การจัดทัพปรับโครงสร้างใหม่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญทำให้การบุกธุรกิจได้อย่างคล่องตัวจนเติบโต มีส่วนแบ่งการตลาดมากว่า 70% นั่งแท่นอันดับ 1 ของไทยได้อย่างภาคภูมิใจ ทั้งหมดนี้อยู่ที่การบริหารจัดการบุคลากรเป็นหัวใจหลักของกลุ่มบริษัทฯ และถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมากที่นำทัพบุคลากรที่ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นวิศวกรทั้งหมด
ในด้านการทำงานเริ่มต้นส่วนตัวมีต้นแบบที่เริ่มจากบริษัทหนึ่งในกลุ่มธุรกิจไอที ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัทที่ใหญ่มากในเมืองไทย ปัจจุบันได้ล้มหายตายจากไปแล้ว ด้วยเหตุผลไม่ได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่เปลี่ยนเทคโนโลยีที่เข้ากับยุคกับสมัยนั้น คือ 25 ปีที่แล้ว และมีอีกหลายบริษัทที่ยังอยู่ได้เป็นคู่ค้า เป็นคู่แข่งกับเรามานาน ซึ่งไม่ใช่เปลี่ยนเฉพาะเทคโนโลยี เปลี่ยนเรื่องการบริหารจัดการ คือ ต้องเปลี่ยนทั้งหมด เป็นเรื่องที่ยาก และท้าทาย ผมถือว่าเป็นเสน่ห์ของธุรกิจไอที
ความท้าทายการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มบริษัท เป็นความกล้าที่จะนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามา บางอย่างก็ไม่ได้ แต่สามารถปรับเข้ามาใช้กับองค์กรจนประสบความสำเร็จ ช่วงแรกของการปรับองค์กรเป็นความท้าทายสำหรับผู้บริหาร และบุคลากร เริ่มปรับยอดขายบริษัทตกทันที เพราะคนถูกเปลี่ยน Positions หมด โยกย้ายปรับเปลี่ยนงาน การวัดผลแบบใหม่ ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ปีที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่เราทำนั้นถูกต้อง ทุกอย่างก็ดีขึ้น มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ถึงจุดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะกล้าทำหรือไม่ทำ อยู่ที่การตัดสินใจ บางครั้งผมใช้คำว่า Paranoid กลัวว่ามันจะแย่ จะช้ากว่าคนอื่น สิ่งเหล่านี้จะอยู่ในส่วนลึกของทุกคน ดังนั้น เราจึงพร้อมที่จะยอมรับที่จะเปลี่ยนตรงนี้ถึงเป็นสิ่งที่ไม่ง่าย เมื่อคน 100-200 ก็พอไหว เริ่มมีมากขึ้นจนเกินกว่า 1,000 คน สิ่งสำคัญ คือ การสื่อสาร ส่งข้อความให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน และชัดเจน โดยเฉพาะส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ต้องมีเหตุ และผลที่ชัดเจน ไม่ง่ายที่จะต้องปรับ แต่ก็ต้องช่วยกันทำจนสำเร็จ
ผมมองตัวเองมีความแตกต่างจากผู้บริหารคนอื่นๆ บางครั้งเราอาจจะมีเป้าหมาย ความมุ่งมั่น ตั้งใจไว้ว่าอะไรที่เกิดขึ้นแบบนี้ เมื่อสำเร็จแล้วจะ “ว้าว” ซึ่งคิดว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง ท้าทายด้วย เป็นความสุข แล้วก็มีความมุ่งมั่นให้มันเกิดให้ได้ ตอนนี้กลุ่มบริษัทดำเนินธุรกิจมาถึงปีที่ 48 นับว่านานพอสมควร ในด้านไอทีแล้ว เรามองไปข้างหน้าอีก 10-20 ปี ที่จะให้ซีดีจี และจีเอเบิล เป็นเหมือนสถาบันที่ใครๆ ต้องการเข้ามาร่วมงานกับเรา ปัจจุบันนี้เรามีบุคลากรประมาณ 2,400-2,500 คน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร นับว่าเป็นองค์กรระบบต้นๆ ของประเทศที่มีคนสนใจเข้ามาร่วมงาน
เสน่ห์ของไอทีอยู่ที่มันมีการเปลี่ยนแปลงตลอด มีอะไรที่ “ว้าววว” ที่สนุก เช่น จีเอเบิล ทำเรื่อง บิ๊กดาต้า คนส่วนมากเข้าใจว่าเป็นข้อมูลที่ใหญ่ เทคโนโลยีสามารถนำข้อมูลมาแยกวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการสร้างโปรแกรมประเมินผลในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เช่น ข้อมูลจะเก็บว่า เราทำอะไรแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี ในช่วงเวลานั้นๆ ไปหาหมดกี่ครั้ง เป็นหวัดช่วงไหน แล้วสร้างเป็นโปรแกรม Life pattern แต่ละบุคคลเพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลตัวเอง หรือโปรแกรมการวิเคราะห์เพื่อออกโปรดักต์ ผลิต สี แบบ จำนวนให้ตรงต่อกลุ่มเป้าหมายเป๊ะ เป็นการลดต้นทุน เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ใช้ได้กับคนทั่วโลกถามว่า? ผมโม้มั้ย ผมบอกเลยว่า สิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นจริงได้ในอนาคต ไม่ง่ายนะ แต่ก็ไม่ใช่ยาก ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้นะ ทั้งหมดนี้เป็นเสน่ห์ของไอทีที่สำเร็จแล้วจะต้อง ว้าววววว!!!!!!
บริหารจัดการเวลาให้สมดุล
ส่วนตัวผมพยายามที่จะบริหารจัดการเวลาของตัวเองให้สมดุลกันระหว่างการทำงานกับชีวิตส่วนตัว ครอบครัว การออกกำลังกายเป็นเรื่องปกติที่ผมทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งวิ่ง เข้าฟิตเนส ที่จะใช้เวลาว่างจากงานทั้งช่วงเช้า กลางวัน หรือเย็น โดยไม่จัดตารางว่าจะต้องทำเวลานั้นๆ ช่วงไหนว่างก็ออกกำลังกาย
ผมเริ่มมาทำโครงการวิ่งของบริษัท ใช้ชื่อโครงการ Determination Run เป็นการวิ่งให้ได้เป้าหมาย 10 กิโลเมตร ในปีแรกของโครงการมีพนักงานสนใจเข้าร่วมโครงการกว่า 700 คน ไม่ได้บังคับใครวิ่งได้แค่ไหนก็แค่นั้น ซึ่ง 10 กิโลเมตร สำหรับคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลยถือว่าเยอะมาก เราให้เวลาเปิดไว้เลย จะใช้เวลาเท่าไรก็ได้ จะวิ่งจะเดินตามความถนัดของแต่ละบุคคล โดยก่อนถึงวันงานมีการประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้มีความตื่นตัว มีการสอนวิ่ง มีรองเท้าให้ แนะนำการซ้อมวิ่งเป็นระยะ
เป้าหมายจริงๆ ของโครงการ คือ ความท้าทาย จากคนที่ไม่เคยวิ่งเลย และสามารถวิ่งได้ 10 กิโลเมตร เป็นความท้าทาย และจดจำไว้ตลอดว่า ครั้งหนึ่งเราวิ่งได้ เมื่อไรที่วิ่ง 10 กิโลได้ หมายความว่าคุณเตรียมพร้อมมาโดยตลอด และจุดเริ่มต้นนี้จะเป็นจุดผลักดันให้สามารถวิ่งในระยะต่อไปที่เพิ่มขึ้นได้ ทั้งหมดนี้จะมีผลกับชีวิตที่เริ่มเปลี่ยน เริ่มแปลกออกไปจากเดิม ร่างกาย สมอง จะดีขึ้นมาก เพราะผ่านการซ้อมมาอย่างดีจึงจะสามารถพิชิตเป้าหมายได้
อันนี้ คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญของคน 700 คน และเมื่อต้นปีนี้มีสมัครเข้ามาวิ่งประมาณ 1,200 คน ผลออกมาดีมาก ถึงเป้าหมายกันเกือบครบ ฟิตมาก ผอมลง ความสามารถในการทำงานสูงขึ้น ทุกอย่างมีผลกลับมาในแง่บวก การทำงาน ในแง่ตัวพนักงานที่ไม่ป่วยไข้ ไม่เป็นหวัด ไม่กลับบ้านเหนื่อยเพราะทำงานหนัก บางคนก่อนกลับบ้านได้มาวิ่งออกกำลังกายต่อที่ฟิตเนสของบริษัท นี่คือความมุ่งมั่น เมื่อทำอย่างนี้ได้อย่างอื่นก็ต้องทำได้ ดังนั้น อย่างอื่นในชีวิตไม่จำเป็นต้องเรื่องงานก็สามารถผ่านอุปสรรคมาได้ ส่วนตัวผมก็ใช้หลักการอันนี้มาตลอด
ปัจจุบัน ผมมีเป้าหมายใหม่ หลังจากสามารถวิ่งได้ 100 กิโลเมตรแล้ว พอเริ่มวิ่งได้ก็เริ่มชอบติดกับการออกกำลังกายแล้ว ตอนนี้ผมขี่จักรยาน เริ่มจากการขี่ด้วยตัวเองกับครอบครัว จนไปถึงขั้นไปฝึก เรียนเทคนิคต่างๆ เมื่อฝึกได้ระยะหนึ่งก็เริ่มเข้าร่วมกับองค์กรต่างๆ สมาคมฯ บ้าง ได้เรียนรู้จากคนอื่นๆ วิธีการฝึก และเตรียมพร้อมร่างกาย เมื่อได้ระดับหนึ่งจึงได้หาทีมเพื่อนๆ มาลงแข่งขันในงานไตรกีฬา ลากูน่าภูเก็ต จะเป็นรายการแข่งขันไตรกีฬา 3 คน คือ หาเพื่อนไปว่ายน้ำ ผมขี่จักรยาน และเพื่อนอีกคนวิ่ง เป็นการแข่งขันระดับอินเตอร์เนชันแนล ที่ภูเก็ต มีนักกีฬาจากยุโรปบินมาแข่งขันจำนวนมาก เพราะท้าทาย และโหดมาก
ในการแข่งขันบอกเลยแบบไม่อาย ผมแทบตาย! เพราะว่าเส้นทางการขี่จักรยานต้องขึ้นเขา ระยะทางกว่า 50 กิโลเมตร ตอนปั่นหัวใจผมออกมาอยู่ข้างนอกแล้ว ผมชักไม่ไหวแล้ว ตอนซ้อมก่อนเข้าแข่งขันก็เจออุบัติเหตุจักรยานล้มเลือดออกเต็มขา แต่ก็สู้แบบทรมานมาก ช่วงเวลานั้นรู้สึกตัวเลยว่ายังไม่พร้อม หลังจากนั้น ก็เข้าแข่งขันอีกเป็นครั้งที่ 2 ถือว่าเบาหน่อยแบบไม่โหดเหมือนที่ภูเก็ต คือ การแข่งขันจักรยานทางเรียบแห่งปี “ฟาร์มโชคชัย บางกอกโพสต์ ทัวร์ เดอ ฟาร์ม” ของโชคชัยฟาร์มเป็นคนจัด ระยะปั่น 60 กิโลเมตรก็ผ่านไปได้ด้วยดี
ตระเวนหาของอร่อยทานเป็นกิจกรรมโปรดของครอบครัว
สำหรับชีวิตครอบครัว ผมกลับบ้านปกติไปทานข้าวกับครอบครัว ออกไปหาอะไรทานอร่อยๆ กันนอกบ้าน ส่วนใหญ่ครอบครัวผมจะใช้เวลาส่วนใหญ่ต่อการรับประทาน ชอบทานกันทั้งบ้าน หาโอกาสไปทริปต่างประเทศบบ้าง ส่วนใหญ่ทริปประจำปีกับลูกๆ คือ สกีญี่ปุ่นที่ไปประจำตั้งแต่ลูกเด็กๆ อายุ 3 ขวบ ตอนนี้ลูกโตกันหมดแล้ว ลูกชายทั้ง 2 คน คนหนึ่งอายุ 14 ปี อีกคนอายุ 17 ปี ทริปหนึ่งประมาณ 7 วัน ซึ่งลูกชอบ เป็นกีฬาของเด็กผู้ชายได้อยู่ด้วยกันพูดคุย และที่สำคัญของครอบครัว คือ การได้หาของอร่อยทานกัน
กิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ทั้งครอบครัว คือ การรับประทานอาหาร และทริปสกีญี่ปุ่น นอกนั้น ลูกๆ จะเป็นอีกเจเนอเรชันหนึ่งที่อยู่ในยุคสมัยของลูกที่อยู่กับโมบาย อินเทอร์เน็ต ซึ่งต้องพยายามเข้าใจด้วยวัยด้วยเจเนอเรชันของเขากับของเราต่างกัน เมื่อซัมเมอร์ที่แล้ว ผมส่งเขาไปเข้าคลาส “iD Tech Camps” ซึ่งโครงการนี้จะสอนเกี่ยวกับการเขียนทำโปรแกรม ทำพวกเกี่ยวกับไอที สอน เล่น เขียนโปรแกรมเกี่ยวกับเกมขึ้นมา ลูกชอบมาก เพราะมีเพื่อนๆ คุยภาษาเดียวกัน ได้เล่นเกม ได้ฝึกสมองทางด้านนี้ ซึ่งบอกอยากไปอีก
ผมจะแบ่งเวลาให้สมดุล มีการทำงานก็ต้องมีการพักผ่อน Enjoy life ทำให้มีกำลังกาย และกำลังใจที่ดี โดยปกติเป็นคนดูสนุกสนานไม่เครียด ถึงแม้ว่าบางครั้งเรื่องงานอาจจะทำให้เครียดบ้าง แต่ผมจะใช้วิธีการพูดคุยกับคนอื่น ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย คุยแบบสนุกสนาน คุยแบบบ้าๆ บอๆ ทำให้คนอื่นหัวเราะ แล้วจะส่งผลให้ตัวเราหัวเราะตามไปด้วย มันทำให้ผมคลายเครียดได้ทางหนึ่ง คือ มันเกิดขึ้นมาได้ โดยไม่จำเป็นต้องออกไปสันโดษ แยกตัวออกไปจากสังคมผู้คน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ชอบ และทำอยู่บางครั้ง ออกไปต่างจังหวัดบ้าง บางครั้งก็อยู่เฉยๆ ปัญหาอะไรที่ทำดีที่สุดในชีวิตแล้ว แก้ไขไม่ได้ก็ปล่อยวาง แล้วกลับมาเริ่มต้นใหม่ สู้กันต่อไป ชีวิตไม่ได้มีแค่ธุรกิจ หรืองานเท่านั้น ยังมีอีกหลากหลายองค์ประกอบของชีวิต พยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดให้มีความสุขที่สุด