xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดหุ้นไทยเตรียมยกเครื่องหุ้น IPO หวังยกระดับเทียบเท่าสากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท.
“เกศรา” เผยเตรียมยกเครื่องร่างเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนของหุ้น IPO ใหม่ ทั้งใน SET และ mai หวังยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยให้มีความเทียบเท่าความเป็นสากล รวมถึงให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น

นางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า ตลท.อยู่ระหว่างการปรับปรุงเกณฑ์การออกหุ้น IPO โดยกฎเกณฑ์ใหม่ดังกล่าวจะมีการปรับปรุงในเรื่องของทุนจดทะเบียนสำหรับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนใน SET จากเดิมไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท เป็นไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท และหากจดทะเบียนด้วยการพิจารณาจากหลักเกณฑ์มาร์เกตแคป จะต้องมีมูลค่าหลักทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 7,500 ล้านบาท จากเดิมที่ระบุไว้ที่ 5,000 ล้านบาท และยังจะต้องมีกำไรก่อนหักภาษีนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย และการประเมินค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย หรือ EBITDA ในปีล่าสุด และมีกำไรสะสมของปีที่เข้าจดทะเบียนมากกว่าศูนย์ ขณะที่ผลการดำเนินงานย้อนหลังยังคงใช้รูปแบบเดิม

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้น mai ก็จะมีการปรับปรุงเกณฑ์ทุนจดทะเบียน โดยจะต้องไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จากเดิมอยู่ที่ 20 ล้านบาท และมีส่วนทุนไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท จากเดิม 20 ล้านบาท หรือหากเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์มาร์เกตแคปก็จะต้องมีมูลค่ามาร์เกตแคปไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเข้าจดทะเบียนด้วยเกณฑ์กำไรจะต้องมีกำไรไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท จากเดิมต้องมีกำไรมากกว่าศูนย์ นอกเหนือจากนี้ บริษัทจดทะเบียนที่จะเข้าซื้อขายในตลาดหุ้น mai ต้องมีการกระจายหุ้น หรือฟรีโฟลตขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 25% จากเดิมที่ 20% ยกเว้นในกรณีที่มีทุนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านบาท ที่ถือว่าสามารถผ่อนผันให้กระจายหุ้นขั้นต่ำในอัตรา 20% ได้

“หากพิจารณาย้อนไปดูบริษัทฯ ที่เข้ามาจดทะเบียนในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีทุนเฉพาะ IPO รวมกันแล้วไม่มีใครต่ำกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งได้ดูแล้วว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดวันนี้เป็นอย่างไร จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ออกมาใหม่ให้ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ส่วนในตลาด mai เดิมระบุไว้ว่า ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท แต่ไม่มีบริษัทไหนที่มีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 20 ล้านบาทเลย น้อยสุด คือ 85 ล้านบาท ส่วนใหญ่แล้วจะเกินกว่า 100 ล้านบาท ซึ่งเกณฑ์ใหม่ที่ปรับยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนบริษัทที่อยู่ระหว่างที่จะเข้าจดทะเบียนหากพิจารณาทุกบริษัทถือว่าผ่านเกณฑ์เหล่านี้ได้ทั้งหมด”

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ยังมีการกำหนดราคาตามมูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ขั้นต่ำ เพื่อให้บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน และบริษัทจดทะเบียนมีพาร์ที่เหมาะสม ไม่ใช้การแตกพาร์ในลักษณะที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ โดยบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนต้องมีพาร์ตั้งแต่ 0.50 บาทขึ้นไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้กำหนดเกณฑ์เพิ่มเติม หากบริษัทมีราคาตลาดอยู่ในระดับที่สูงตลอดระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งสะท้อนพื้นฐานของบริษัทที่มีการเติบโตขึ้น แต่ยังมีราคาพาร์อยู่ที่ระดับ 0.50 บาท สามารถทำการแตกพาร์ได้ อีกทั้งในกรณีบริษัทมีความประสงค์จัดโครงสร้างบริษัท ทำให้ต้องมีการลดพาร์ลงมาน้อยกว่า 0.05 บาท สามารถทำได้แต่เป็นการชั่วคราว ซึ่งเมื่อดำเนินการจัดโครงสร้างแล้วเสร็จภายใน 12 เดือน บริษัทจะต้องแก้ไขพาร์กลับมาที่ราคา 0.05 บาท ให้ได้ (เว้นเสียแต่ว่าเหตุของความจำเป็นนั้นยังไม่สามารถแก้ไขให้แล้วเสร็จ)

“การกำหนดราคาพาร์จะไม่มีผลย้อนหลังต่อบริษัทจดทะเบียนเดิม ซึ่งจะกำหนดใช้เฉพาะรายใหม่ที่จะเข้ามาหลังที่ประกาศมีผล โดยหากการเข้ามาในราคาพาร์ที่ 0.50 บาท จะไม่สามารถแตกพาร์ได้อีก แต่ถ้าสูงกว่านั้นก็ทำการแตกพาร์ได้ไม่ต่ำกว่า 0.50 บาท”


อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ดังกล่าวจะสิ้นสุดการทำ Hearing ในวันที่ 18 มีนาคม 2559 จากนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงจะสามารถประกาศใช้ได้ โดยในต้นเดือนมีนาคมนี้ ตลท.จะเรียกผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือ Stakeholder เช่น FA ผู้ลงทุน เป็นต้น เข้ามาหารือ และรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ การปรับกฎเกณฑ์หุ้น IPO ใหม่ ตลท.ยืนยันว่าจะไม่มีผลกระทบต่อบริษัทที่อยู่ระหว่างเข้ามาจดทะเบียน ซึ่งเป้าหมายมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market cap) คาดว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ที่ 2.7 แสนล้านบาท และการระดมทุนของบริษัทเดิมที่คาดจะทำได้ 2.55 แสนล้านบาทในปีนี้

ขณะที่ในส่วนของการสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ หรือ สตาร์ทอัป และบริษัทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการอยู่นั้น ยังคงให้การสนับสนุนต่อเนื่อง โดยผ่านกระบวนการประกาศหาการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุน หรือ Venture capital ซึ่งหากมีการมีความต้องการระดมทุนในอนาคตก็สามารถเข้ามาจดทะเบียนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาด mai ได้ ซึ่งยังคงเกณฑ์ใช้ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาทได้เหมือนเดิม

“การปรับกฎเกณ์ดังกล่าวเพื่อมีความทันสมัย หลังจากไม่ได้มีการปรับมา 17 ปีแล้ว และให้นักลงทุนเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยเป็นแหล่งระดมทุนที่เหมาะสมต่อบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก และยกระดับคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนไทยให้มีความเทียบเท่าความเป็นสากล รวมถึงเพื่อให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีความน่าสนใจมากขึ้น”
กำลังโหลดความคิดเห็น