SCB EIC มองตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากนโยบายที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ทั้งญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป และจีน
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองตลาดการเงินโลกมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นจากทิศทางที่แตกต่างกันของการดำเนินนโยบายทางการเงิน (Monetary Policy Divergence) จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ประกาศดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม โดยปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ จากเดิมที่ 0.1% มาเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำที่สุดอยู่ที่ -0.1% (อัตราดอกเบี้ย 3 ขั้น ได้แก่ 0.1%, 0% และ -0.1% ขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ธนาคารพาณิชย์ในญี่ปุ่นฝากไว้กับ BOJ) ขณะที่วงเงินที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นจะเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นยังคงเดิมที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี
นอกจากนี้ BOJ อาจมีการออกมาตรการผ่อนคลายนโยบายทางเงินเพิ่มเติม เงินเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ (USD-JPY) จึงมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้เล็กน้อยในปีนี้ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีรายได้ในรูปเงินเยนอาจพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังมีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจยุโรป ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขยายมาตรการผ่อนคลายเพิ่มเติม อีกทั้งธนาคารกลางจีน (People's Bank of China : PBOC) อาจปรับลดค่าเงินหยวนลงอีก ดังนั้น ผลจากทิศทางของนโยบายทางการเงินโลกมีความหลากหลายเช่นนี้จะนำมาซึ่งความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในตลาดการเงินทั่วโลก