xs
xsm
sm
md
lg

“ตลท.-mai” จับมือ “ก.วิทย์” ส่งเสริมความสามารถนวัตกรรม บจ. ตั้งเป้าปีแรกคัดเลือก 30 แห่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ตลท.-mai” จับมือ “ก.วิทย์” ส่งเสริมความสามารถนวัตกรรม บจ. ตั้งเป้าปีแรกคัดเลือก 30 แห่ง เข้าร่วมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรม เพื่อพัฒนาศักยภาพ และความยั่งยืนทางธุรกิจ

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จับมือกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เดินหน้าโครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับบริษัทจดทะเบียน ใน ตลท. และ mai ให้ความรู้สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการนวัตกรรมเชิงองค์กรให้แก่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตั้งเป้าปีแรกคัดเลือกจาก 30 บจ. เพื่อพัฒนาศักยภาพ และความยั่งยืนทางธุรกิจ

นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลท. กล่าวว่า ในปัจจุบันนวัตกรรมนับว่ามีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยการนำนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินธุรกิจตั้งแต่การวางกลยุทธ์ การนำผลการวิจัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ การปรับปรุงแนวคิด และกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ ตลท.จึงได้ร่วมกับ สนช. เพื่อสนับสนุนให้ บจ.ได้นำนวัตกรรมมาปฏิบัติจริงในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ mai กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่าง ตลท. ตลาดหลักทรัพย์ mai และ สนช. เกิดจากแนวคิดที่จะพัฒนา บจ.เป็นองค์กรต้นแบบในการดำเนินธุรกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่ง บจ.เป็นบริษัทที่มีความพร้อมทั้งด้านเงินทุน และโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจ จึงมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างเข้มแข็งด้วยการเข้าถึงกระบวนการทางนวัตกรรม โดยจะมีการให้ความรู้ให้คำปรึกษาเชิงลึก และการสนับสนุนต่างๆ จากหน่วยงานพันธมิตรแก่ บจ. ซึ่งสอดคล้องกับแผนงานสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพ บจ.

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า โครงการส่งเสริมความสามารถทางนวัตกรรมสำหรับ บจ. ดังกล่าว สนช. ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ทำการสำรวจ และประเมินความสามารถด้านนวัตกรรมของ บจ. ภายใต้กรอบทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การจัดการด้านบุคคล (Man) การจัดการองค์กร (Management) การพัฒนานวัตกรรม (Methodology) ความเอาใจใส่พนักงาน (Mind) และการจัดการวัสดุ (Material) เพื่อประเมินจุดแข็งและจุดอ่อน สำหรับนำไปจัดทำเป็นรายงานนวัตกรรมสำหรับองค์กร รวมถึงการจัดทำเป็นรายงานตัวชี้วัดทางนวัตกรรม (Innovation Index)

โดยเบื้องต้นจะคัดเลือก 30 บจ. เข้าร่วมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรม แบ่งออกเป็นหลักสูตรการอบรมผู้บริหารระดับสูงเน้นการสร้างความรู้ และความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับนวัตกรรม และการอบรมให้กับกลุ่มผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมในองค์กร และการสนับสนุนทางด้านต่างๆ เพื่อมุ่งพัฒนาให้เกิดโครงการนวัตกรรมของแต่ละองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น