xs
xsm
sm
md
lg

คาดปรับปรุงโครงสร้าง ภงด.เคาะได้ใน Q1/59 และมีผลบังคับใช้ในปี 60

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“สรรพากร” คาดเสนอรายละเอียดปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ “รมว.คลัง” เห็นชอบภายในไตรมาส 1/59 เพื่อให้มีผลสำหรับปีภาษี 60 ยืนยันผู้เสียภาษีจะได้สิทธิทุกราย ส่วนกรณีการออก กม.เว้นตรวจสอบภาษีย้อนหลัง คาดมีเอสเอ็มอี 30% เข้าสู่ระบบ

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรจะเสนอการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต่อ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบภายในไตรมาสแรกปี 2559 ซึ่งทำให้มีผลบังคับใช้สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นในปี 2560 ที่จะมีการยื่นแบบ และเสียภาษีในปี 2561

“รายละเอียดการปรับเปลี่ยนยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ยืนยันว่าภาษีใหม่จะทำให้ทุกคนมีความสุข เพราะได้รับประโยชน์กันทุกคน ปรับอัตราทั้งหมด ไม่มีใครเสียมีแต่ได้ จะขยับเพิ่มสำหรับผู้ที่มีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อเดือนอีก กำลังพิจารณาอยู่แต่คงไม่เกิน 3 หมื่นบาท เพราะสูงเกินไป”

สำหรับภาพรวมการเก็บภาษีในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 นายประสงค์ กล่าวว่า ดีขึ้นกว่าช่วงเดียวกันที่ผ่านมา แต่การเก็บภาษีมูลค่าจากการนำเข้าน้ำมัน และสินค้ายังต่ำกว่าเป้ามาก เนื่องจากราคาน้ำมันต่ำกว่าประมาณการไว้มาก คาดจะทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากน้ำมันในปีนี้หายไปกว่า 1 แสนล้านบาท นอกจากนี้ การเก็บภาษีจากดอกเบี้ยเงินฝากในจำนวน 15% ก็ลดลงไปมาก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในตลาดลดลง

ขณะที่มาตรการภาษีชอปช่วยชาติ 1.5 หมื่นบาท ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา คาดว่าทำให้กรมสรรพากรสูญเสียการจัดเก็บไม่เกิน 5,000 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า เพราะจากการสำรวจยอดขายสินค้าในช่วงมาตรการเพิ่มขึ้น 20-50%

รายงานข่าวเพิ่มเติม ระบุว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค.59 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศ พ.ร.ก.ยกเว้นและสนับสนุนการปฏิบัติการเกี่ยวกับภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากร พ.ศ.2558 และ พ.ร.ก.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 594) พ.ศ. 2558 โดยมีเนื้อหาสรุปดังนี้

บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดใน หรือก่อนวันที่ 31 ธ.ค.58 ไม่เกิน 500 ล้านบาท และจดแจ้งการจัดทำบัญชี และงบการเงินให้สอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ (บัญชีเล่มเดียว) ต่อกรมสรรพากรจะได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะเปิดให้มีการจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.59 ถึง 15 มี.ค.59

กรณีที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดอยู่ระหว่างถูกการตรวจสอบภาษีอากร เป็นผู้ออกใบกำกับภาษีปลอม หลีกเลี่ยงอากร หรืออยู่ในระหว่างการดำเนินคดีก่อนวันที่ 1 ม.ค.59 บริษัทฯ ยังคงสามารถจดแจ้งการใช้บัญชีเล่มเดียวต่อกรมสรรพากรได้ โดยกรมสรรพากรจะดำเนินการเฉพาะกรณีนั้นๆ ต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ

สำหรับกรณีบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งมีทุนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้า และการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 58 และได้มีการจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการใช้บัญชีเล่มเดียวจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 รอบระยะเวลาบัญชี ดังนี้

- ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 59

- ยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 60 ดังนี้

(1) สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

(2) ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือ 10% ของกำไรสุทธิ สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เกิน 300,000 บาท

กรณีที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใดไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไข บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะถูกเพิกถอนจากการยกเว้นการตรวจสอบภาษีอากรย้อนหลัง และให้ถือว่าบริษัทฯ นั้นไม่เคยได้รับสิทธิใดๆ ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้

ให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย ดำเนินการเพื่อให้สถาบันการเงินที่อยู่ในกำกับดูแลใช้บัญชี และงบการเงินที่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากรในการยื่นรายการภาษีเงินได้เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน และขออนุมัติสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.62 เป็นต้นไป

ผลของการดำเนินการตามมาตรการบัญชีเล่มเดียว และการยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับ SMEs คาดว่าจะทำให้บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ได้จัดทำบัญชี และงบการเงินสอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินธุรกิจสร้างความน่าเชื่อถือในการประกอบกิจการ เป็นการสร้างฐานภาษีที่ยั่งยืน สะท้อนสภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ และการทำธุรกรรมทางการเงินโดยรวม

การยกเว้น และลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำบัญชีเล่มเดียวจะช่วยส่งเสริมศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยใช้เป็นเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ และวางแผนการดำเนินธุรกิจ และสร้างความน่าเชื่อถือในการขยายกิจการ

กรณีดังกล่าว อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่า ปัจจุบันมีนิติบุคคลที่มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท คิดเป็น 98% ของนิติบุคคลที่อยู่ในระบบภาษี ในจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่เป็นกิจการ SMEs มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท รายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาท อยู่ 81% หรือประมาณ 3.4 แสนราย ส่วนนิติบุคคลที่รายได้เกิน 500 ล้านบาท มีอยู่ประมาณ 8 หมื่นราย

ทั้งนี้ กรมสรรพากร คาดว่าจะมีนิติบุคคลมาเข้าร่วมโครงการไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลังประมาณ 30% หรือกว่า 1 แสนราย

นอกจากนี้ นิติบุคคลที่เป็น SMEs ที่เข้าโครงการยังได้สิทธิพิเศษ กำไรในปี 59 ไม่ต้องเสียภาษี และกำไรในปี 60 จะเสียภาษีเพียง 10% ส่วน SMEs ที่ไม่เข้าร่วมโครงการจะไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว ทั้งนี้ การไม่ตรวจสอบภาษีย้อนหลัง และการลดภาษีเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าโครงการ จะทำให้กรมสรรพากรเสียรายได้ 1 หมื่นล้านบาท แต่กรมสรรพากรจะเก็บภาษีทางจริง และทางอ้อมได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้การเสียภาษีทางตรงมีโอกาสที่จะปรับลดลงไปได้อีก

นอกจากนี้ ในปี 62 กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะกำชับให้ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งอนุมัติสินเชื่อจากหลักฐานทางบัญชีของผู้ประกอบการที่เป็นบัญชีเดียวกันกับที่ยื่นกรมสรรพากร จะทำให้การเก็บภาษีของกรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม นิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ หากมีการกระทำผิดเลี่ยงภาษีในภายหลังอีก ทางกรมสรรพกรจะยกเลิกสิทธิที่ได้ตาม พ.ร.ก.ทั้งหมด และทำการตรวจสอบการเสียภาษีย้อนหลังได้ตามปกติ ส่วนผู้ประกอบการที่ไม่เข้าร่วมโครงการ คาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการถูกต้องอยู่แล้ว อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ไม่พร้อม ซึ่งหากบุคคลมีการทำธุรกรรม และไม่สามารถขอใบกำกับภาษีได้ ก็สามารถแจ้งให้กรมสรรพากรเข้าไปตรวจสอบได้

“พ.ร.ก.ฉบับนี้ไม่ใช่การนิรโทษกรรมทางภาษี แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการยกเว้นการตรวจสอบ ไต่สวน ประเมิน หรือสั่งให้เสียภาษีอากร และความผิดทางอาญาตามประมวลรัษฎากร สำหรับบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มาจดแจ้งต่อกรมสรรพากรในการจัดทำบัญชี และงบการเงินให้สอดคล้องต่อสภาพที่แท้จริงของกิจการเพียงเล่มเดียว” นายประสงค์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น