xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นพลังงานยังน่าลงทุนไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


หุ้นพลังงาน-ปิโตรเคมี ส่อแววเจอปัญหาใหญ่หลังราคาน้ำมันตลาดโลกร่วงหนัก ทำให้ขาดทุนสต๊อกน้ำมันกันถ้วนหน้า หลังจากราคาน้ำมันในตลาดโลกกลับเข้าสู่เทรนด์ขาลงอีกครั้งจากหลายปัจจัย ทั้งปริมาณอุปทานที่ล้นตลาด ความพยายามแสวงหาพลังงานทดแทนที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าตามทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัว และแนวโน้มการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากทางฝั่งยูโรโซน ซึ่งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงหนักอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้บรรดานักวิเคราะห์เริ่มออกมาประเมินหุ้นในกลุ่มพลังงานของไทยว่า อาจจะต้องประสบปัญหาการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบในช่วงปี 2558 ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2557 ที่เคยทรงตัวอยู่ที่ระดับ 97 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปรับลดลงมามาอยู่ที่ 31 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 31-32 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ปัจจัยมาจากปริมาณน้ำมันดิบที่ยังล้นตลาดอยู่ราว 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการใช้ของโลกอยู่ที่ประมาณ 94 ล้านบาร์เรลต่อวัน อีกทั้งยังมีความพยายามพัฒนาพลังงานทดแทนที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์กันมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่อย่าง จีน ก็มีการประเมินว่า เศรษฐกิจจีนยังอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะชะลอตัวต่อเนื่องในปี 2559 ส่งผลให้ความต้องการน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มลดลง หรืออย่างมากก็แค่ทรงตัว

ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มพลังงานทั่วโลกปรับตัวลดลงเฉลี่ยราวๆ -23% จากต้นปี ยกเว้นกลุ่มโรงกลั่นที่ยังพอมีกำไรอยู่ ขณะเดียวกัน กองทุนประเภท High Yield Bond ราคาปรับตัวลงค่อนข้างแรง เนื่องจาก HY Bond มี Energy sector สูงถึง 22% ในตัวดัชนี อีกทั้งยังเกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในการลงทุนของ Real Sector ทั่วโลก จากเดิมอาจมีบริษัทกำลังจะทุ่มลงทุนในธุรกิจพลังงานเพิ่ม เมื่อเกิดภาวะราคาน้ำมันตกต่ำ ก็ทำให้มีการชะลอการลงทุน และประเมิณสถานการณ์อย่างละเอียด Global Investment Activity ในปี 2558 ปรับลดลงอย่างมีนัย จากที่มองเรื่องโอกาสในอนาคต กลายเป็นมองเรื่องความปลอดภัยในปัจจุบัน

เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับนักลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่คุณต้องดู คือ 1) ดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ต้องเริ่มตกลงให้เห็น 2) ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันควรเพิ่มขึ้น ไม่จากฝั่งสหรัฐฯ ก็ต้องมาจากเศรษฐกิจจีน ที่ควรจะหยุดการชะลอได้แล้ว เพราะการลงทุนในหุ้น Commodity โดยเฉพาะราคาน้ำมันนั้น ปัจจัยที่กระทบมัน คือ ความต้องการใช้ และกำลังการผลิตของโลก จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
จากการสำรวจหุ้นธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมีของนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส พบว่า

1.ธุรกิจโรงกลั่น คาดว่า ตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ต่อเนื่องต้นปี 2559 จะเข้าสู่ฤดูกาล กล่าวคือ มีความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความร้อน ทำให้ค่าการกลั่นจะทำสถิติสูงสุดของปี สะท้อนได้จากค่าการกลั่นล่าสุด ขยับขึ้นจาก 9 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในสัปดาห์ก่อนหน้า ขึ้นมาเป็น 10 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับการคาดว่ากำลังการผลิตโรงกลั่นใหม่ๆ จะออกมาสู่ตลาดในปี 2559 น้อยกว่าในปี 2558 เพราะสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ตกต่ำส่งผลให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นในทวีปเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ซึ่งแต่เดิมมีแผนที่จะก่อสร้างโรงกลั่นใหม่แล้วเสร็จในปี 2559 ได้เลื่อนการผลิตเชิงพาณิชย์ออกไปเป็นปี 2560 แทน รวมถึงโรงกลั่นที่ไม่คุ้มต่อต้นทุนการผลิตทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่องในปี 2559 หลักๆ เป็นโรงกลั่นในประเทศจีน และญี่ปุ่น ส่งผลให้ค่าการกลั่นปี 2559 ยังคงอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงปีนี้ที่อยู่ในระดับเฉลี่ย 7.61 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

2.ธุรกิจปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่โรงกลั่นมีการต่อยอดไปทำธุรกิจปิโตรเคมี เช่น TOP ซึ่งทำปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ คิดเป็น 11% ของรายได้ทั้งหมด ส่วน PTTGC (ทำปิโตรเคมีสายอะโรเมติก และโอเลฟินส์ ซึ่งคิดเป็น 12% และ 33% ของรายได้ ตามลำดับ) และ IRPC (ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ และโอเลฟินส์ คิดเป็น 10% และ 14.5% ของรายได้ตามลำดับ) ล่าสุด พบว่า Spread ของปิโตรเคมีมีแนวโน้มทรงตัว และน่าจะต่อเนื่องปี 2559 โดยคาดว่า Spread ของ Px-Naptha, Bz-Naptha (สายอะโรเมติกส์) และ HDPE-Naptha (สายโอเลฟินส์) ในปี 2559 จะเฉลี่ยอยู่ที่ 354, 206 และ 700 เหรียญสหรัฐต่อตันตามลำดับ โดยรวมนับว่าส่งผลดีต่อหุ้นโรงกลั่น และปิโตรเคมี โดยหุ้นที่นักวิเคราะห์ ASPS ชื่นชอบมากสุด คือ IRPC (FV@ B5.9) ด้วยจุดเด่นที่โครงการ UHV ใกล้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ จะช่วยยกฐานกำไรปกติจากเดิมเฉลี่ย 1-2 พันล้านบาท ขึ้นเป็น 6-7 พันล้านบาทในปี 2559 หรือเติบโตกว่า 39% yoy ขณะที่มี Expected P/E ต่ำสุดราว 9 เท่า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มในภูมิภาคที่ราว 12.5 เท่าในปี 2559 รองลงมา คือ BCP (FV@B42.5) โดยมี upside สูงถึง 22.3%

น้ำมันลง แต่ค่าการกลั่นยังสูง หนุน IRPC

คาดว่าการรายงานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังขัดแย้ง และเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้า ยังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันตลาดล่วงหน้า Brent รวมถึงราคาน้ำมันในตลาดดูไบต่างปรับตัวลดลง ขณะที่กลุ่มโอเปกจะยังคงเดินหน้าผลิตน้ำมันระดับเดิม ซึ่งขัดแย้งต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีปริมาณลดลง นับเป็น sentiment เชิงลบต่อหุ้นน้ำมัน (PTTEP, PTT) แต่จะหนุนหุ้นกลุ่มโรงกลั่น สะท้อนจากค่าการกลั่นที่สิงค์โปรยังคงอยู่ในระดับสูง ล่าสุด ที่ 8.25 เหรียญต่อบาร์เรล (อานิสงส์จากช่วงฤดูกาล และเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของกำลังการกลั่นของโรงกลั่นใหม่ๆ ที่จะเข้ามาสู่ตลาดน้อยกว่าคาด) จึงยังคงแนะนำซื้อ IRPC (FV@B5.95) เนื่องจากแนวโน้มกำไรปกติในปี 2559 เติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่ม (39.2% yoy) และ ณ ราคาปัจจุบันมี upside ราว 42.34% และซื้อ PTT (FV@B360) เนื่องจากมีการกระจายธุรกิจสูง

พลังงานทดแทนคุ้มค่าต่อการลงทุนจริงหรือ

ประเด็นสำคัญ คือ ราคาจะสมเหตุสมผลหากมีข่าวแล้วทำได้จริง แต่ทุกอย่างมีทั้งด้านมืด และสว่าง สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ บางบริษัทปล่อยข่าวโคมลอยออกมาเพื่อขายฝันให้แก่แมงเม่าทั้งหลายเพื่อจูงใจให้เข้าไปติดกับดักการสร้างราคาหุ้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจพลังงานทดแทนยังมีโอกาสเติบโต สะท้อนได้จากมีผู้สนใจเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสขาดทุนน้อย ให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แต่...ความหอมหวานที่จะได้มาร์จิ้นในระดับสูงๆ เหมือนสมัยก่อนคงไม่มีอีกแล้ว
เพราะภาครัฐได้เปลี่ยนระบบรับซื้อไฟฟ้าจาก Adder เป็น FiT ซึ่งมีอัตราที่ถูกลง และในอนาคตอันใกล้นี้การขอ PPA จะเป็นลักษณะประมูล ทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการจะสูงขึ้น ผู้ที่จะเข้ามาในวงการนี้ต้องมีความพร้อมของฐานะการเงิน

บล.เคจีไอ มีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มพลังงานทดแทน โดยเฉพาะผู้ประกอบการโซลาร์ฟาร์มหลังกระทรวงพลังงานสนับสนุนธุรกิจโซลาร์รูฟ นอกจากนี้ ราคาหุ้นกลุ่มนี้ที่ปรับตัวลงตามภาวะตลาดฯ ก่อนหน้านี้เป็นโอกาสสะสม เพราะเป็นหุ้น Defensive ที่ผลการดำเนินงานไม่ผันผวน EA (เป้าพื้นฐาน 8.65 บาท) SPCG (เป้าสูงสุด Consensus 39 บาท)

ขณะที่ นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ระบุการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช. ปรับเพิ่มเป้าการใช้พลังงานงานทดแทนขึ้นตามแผนพลังงานทดแทน ทำให้บริษัทฯ ที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวจะได้รับอานิสงส์ในการขายไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้กับรัฐบาล แนะนำ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL, บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG และบริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) หรือ DEMCO ซึ่งทั้ง 3 บริษัทฯ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นมีความพร้อม และศักยภาพเพียงพอกับการรองรับมาตราการดังกล่าวของภาครัฐ แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องประเมินความสามารถของผู้ประกอบการว่ามีประสิทธิภาพ และประสงค์จะยื่นซองประมูลในโครงการที่รัฐบาลเปิดให้เข้าร่วมประมูลหรือไม่

“นักลงทุนควรระมัดระวังในการซื้อขาย เนื่องจากขณะนี้ ราคาหุ้นในกลุ่มนี้อาจผันผวน โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณของการเก็งกำไรได้ ในขณะเดียวกัน ประเมินว่าราคาหุ้นจะยังคงมีโอกาสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นได้”
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น