สศค.เตรียมปรับจีดีพีหลังปีใหม่ ยอมรับส่งออกหดตัวมากกว่าคาดถึง 5.5% เชื่อมาตรการชอปช่วยชาติ ช่วยจีดีพีปีนี้เติบโตได้ใกล้เคียง 3% ขณะที่ความเชื่อมั่นต่างๆ ในเดือน พ.ย. ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ที่ระดับ 64.3 และมีสัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัว 3.5% ต่อปี จากการขยายตัวของแวตที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวได้ถึง 7% ส่วนการลงทุนภาคเอกชน ก็มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน การบริโภคในประเทศเริ่มฟื้นตัว สะท้อนได้จากการจัดเก็บแวตที่เพิ่มขึ้น
น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า มาตรการภาษีที่ให้ประชาชนนำค่าใช้จ่ายซื้อสินค้า และบริการตั้งแต่วันที่ 25-31 ธันวาคม 2558 มาหักลดหย่อนภาษีตามจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะสามารถช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศในเดือนธันวาคม 2558 ต่อไป โดยมาตรการภาษีที่ออกมาใช้ 7 วัน มีผู้ที่ได้รับสิทธิการลดหย่อนภาษี ประมาณ 3 ล้านคน แต่คาดว่าจะมีผู้บริโภคใช้จ่ายประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่ได้รับสิทธิทั้งหมด ซึ่งหากใช้จ่ายสูงสุดที่ 15,000 บาทต่อคน จะมีเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 22,500 ล้านบาท จะช่วยจีดีพีโตร้อยละ 0.1 การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4
โดย สศค.ยังคงประมาณการเศรษฐกิจปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 2.8 แต่อาจจะใกล้เคียงร้อยละ 3 มากขึ้นเพราะมีหลายมาตรการเสริม จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการช็อปช่วยชาติ แต่ยอมรับกังวลการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนที่หดตัวลงมากถึงร้อยละ 7.4 ทำให้ทั้งปีการส่งออกติดลบมากกว่าที่คาดการณ์คือ ติดลบร้อยละ 5.5 จากเดิมคาดติดลบร้อยละ 5.4 ซึ่งทาง สศค.จะมีการปรับประมาณการใหม่ในเดือนมกราคมนี้
ส่วนในปี 2559 คาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 3.8 ห่วงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และญี่ปุ่น ดังนั้น การฟื้นตัวยังเปราะบาง ขณะที่มีความผันผวนทางการเงินโลก การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศขนาดใหญ่ในโลกใช้นโยบายการเงินไม่สอดคล้องกัน กระทบเงินทุนเคลื่อนย้าย ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวน ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังต่ำ และราคาน้ำมันยังอยู่ในขาลง ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ กระทบรายได้เกษตรกร และยังมีปัญหาภัยแล้งกดดัน
อย่างไรก็ตาม มีความหวังจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าเม็ดเงินจะมากกว่าปีนี้ หลายโครงการประมูลได้โดยเฉพาะการกอ่สร้างรถไฟทางคู่ โครงข่ายรถไฟฟ้า การก่อสร้างทางหลวงพิเศษ การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ส่วนการท่องเที่ยวเป็นตัวสนับสนุนเช่นกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทยจะขยายตัวเกินร้อยละ 10 บวกกับการค้าชายแดนเร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะจากพม่า ลาว กัมพูชา จะส่งผลให้การส่งออกในปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 2.5 แต่มีแนวโน้มต่ำกว่านี้ได้
ส่วนเศรษฐกิจในเดือนพฤศจิกายน 2558 สัญญาณการใช้จ่ายภายในประเทศของภาคเอกชนเริ่มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มขยายตัวร้อยละ 3.5 ต่อปี จากการขยายตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัวร้อยละ 7 และดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้มีการปรับตัวดีขึ้น เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อยู่ที่ระดับ 63.4
ส่วนการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 20.3 ได้รับปัจจัยหนุนจากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และการจดจำนองเพื่อกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่การจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 2.6