คาดดัชนีหุ้นไทยวันนี้แกว่งตัวในกรอบแคบต่อจากเมื่อวานนี้ โดยจับตาความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และตรุกี ซึ่งมีสถานการณ์รุนแรงตอบโต้กันไปมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นในเอเชียปรับตัวลดลง ซึ่งในระยะสั้นให้แนวต้านไว้ที่ 1,395 จุด
นักวิเคราะห์มองดัชนีหุ้นไทยวันนี้ (25 พ.ย.) ดัชนีน่าจะแกว่งตัวในกรอบแคบต่อจากเมื่อวานนี้ เนื่องจากยังมีความวิตกกังวลภัยก่อการร้าย และการเมืองระหว่างประเทศที่ขยายวงกว้างเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะแรงกดดันจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซีย และตุรกี
โดยวันนี้ รัสเซียยังส่งเรือรบเข้าช่องแคบดาร์ดาเนลส์ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของตุรกี หลังตุรกียิงเครื่องบินรบรัสเซียก่อน โดยสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลง อีกทั้งยังไม่มีปัจจัยกระตุ้นใหม่ ระยะสั้นให้แนวต้าน 1,395 จุด
นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.บัวหลวง (BLS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสที่จะอ่อนตัวลงในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้ต่างติดลบกัน โดยปัจจัยในประเทศไม่มีประเด็นอะไรมาก มีเพียงตัวเลขการส่งออกเดือน ต.ค.ของไทยที่ประกาศออกมาแย่กว่าเดิม ซึ่งนักวิเคราะห์ฯ ต่างคาดว่าน่าจะหดตัวลดลง
อย่างไรก็ดี วันนี้อาจจะให้น้ำหนักไปที่ราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อคืนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่เครื่องบินรัสเซียถูกยิงตก ทำให้ตลาดเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจจะมาช่วยหนุนกลุ่มน้ำมันในวันนี้ได้
ขณะที่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐฯ ออกมาดีตามคาด โดยงวดไตรมาส 3/58 ออกมาเติบโต 2.1% ทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค. และตรงนี้จะไปกดดันค่าเงิน และเม็ดเงินให้มีการไหลออก
ด้านตัวเลขเศรษฐกิจจีน ก็ยังไม่ดี แม้ว่าที่ผ่านมา จะมีการลดอัตราดอกเบี้ย และลดการตั้งสำรองฯ เพื่ออัดฉีดเงินเข้าระบบ แต่ดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีผลต่อตัวเลขเศรษฐกิจของจีนมากนัก ทำให้มีคนมองว่าจีนน่าจะทำอะไรที่มากกว่านี้
อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางส่วนก็ยังผิดหวังต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ประกาศออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะออกมาแย่กว่าคาด ดังนั้น จึงเชื่อว่าตลาดฯ คงจะยังไม่ผ่าน 1,400 จุด ส่วนแนวรับให้ไว้ที่ 1,370 จุด
พร้อมให้จับตาตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศต่างๆ ที่จะทยอยประกาศออกมา และให้ติดตามการประชุมการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ซึ่งจะมีขึ้นในเวลาที่ใกล้เคียงกันในวันที่ 3-4 ธ.ค.นี้ โดยดูว่าโอเปกจะลดกำลังการผลิตหรือไม่ ส่วน ECB ก็รอดูจะมีการอัดฉีดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติมหรือไม่