บีบีซีนิวส์/เอเจนซีส์ - “บีบีซี” ตั้งคำถามเป็นไปได้หรือไม่ว่า ตุรกีตอบโต้การรุกล้ำน่านฟ้าแรงเกินไป และมูลเหตุจูงใจแอบแฝงในการสอยเครื่องบินรัสเซียของอังการาในคราวนี้คือ ไม่พอใจที่มอสโกถล่มกลุ่มนักรบชาวเติร์กเมนที่ตนให้การสนับสนุนและติดอาวุธอยู่
ตุรกีระบุว่าเครื่องบินรบรัสเซียรุกล้ำน่านฟ้าของตนมาหลายครั้งหลายครา นับจากที่มอสโกเปิดฉากโจมตีทางอากาศในซีเรีย ขณะเดียวกัน อังการาก็เคยยิงเครื่องบินซีเรียที่ล่วงล้ำพรมแดนจนร่วงมาแล้ว
อังการานั้นสนับสนุนให้กองทัพของตนใช้ “กฎการปะทะสู้รบ” อย่างแข็งกร้าว เพื่อไม่ให้มีใครกังขาสงสัยว่า หากมีเครื่องบินรบของคนอื่นรุกล้ำน่านฟ้ามา ตุรกีจะตอบโต้อย่างไร
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันอังคาร (24 พ.ย.) ซับซ้อนกว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนี้
แน่นอน สองฝั่งเห็นต่างกัน ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ยืนยันว่า เครื่องบินของตนไม่ได้อยู่ในน่านฟ้าตุรกี แต่ถูกยิงตกเหนือดินแดนซีเรีย
ทว่า อังการาก็ยืนกรานว่า แจ้งเตือนเครื่องบินแดนหมีขาวหลายครั้งว่า รุกล้ำน่านฟ้าตุรกี และเมื่อไม่ยอมเปลี่ยนเส้นทางจึงต้องยิง
ปัญหาก็คือ จากแผนที่เรดาร์ที่ตุรกีเปิดเผยนั้น เครื่องบินซูคอย-24ของรัสเซีย บินเหนือบริเวณที่เป็นคอคอดขนาดเล็กของตุรกีที่ยื่นเข้าสู่ซีเรีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใช้เวลาบินผ่านเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้น
ดังนั้น หากเครื่องบินถูกยิง หลังจากล่วงล้ำน่านฟ้าของตุรกีจริงตามที่อังการากล่าวอ้าง ก็อาจพูดได้เช่นกันว่า เครื่องบินลำนั้นถูกสอยขณะบินออกจากดินแดนของตุรกี
เรื่องนี้จึงดูจะมีที่มาที่ไปอันซับซ้อนกว่าธรรมดา นั่นคือการที่รัสเซียโจมตีทางอากาศเพื่อให้การสนับสนุนการโจมตีภาคพื้นดินของกองทัพซีเรียต่อนักรบชาวเติร์กเมน บริเวณทางเหนือของซีเรีย โดยที่นักรบกลุ่มนี้ได้รับการสนับสนุนและติดอาวุธจากรัฐบาลตุรกี ด้วยเหตุนี้ อังการาจึงไม่พอใจรัสเซีย
ถ้าเช่นนั้น ตุรกีตอบโต้การรุกล้ำของรัสเซียรุนแรงเกินเหตุหรือไม่ หรืออังการารอจังหวะนานแล้วเพื่อจะส่งข้อความชัดถ้อยชัดคำถึงมอสโก
ไม่ว่าจะอย่างไร รัสเซียและตุรกีจะไม่ประกาศสงครามกัน แม้โต้เถียงกันอย่างเผ็ดร้อน โดยเฉพาะจากปูติน แต่ที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจใช้เหตุการณ์นี้เป็นบทเรียนสำหรับอนาคต
อย่างไรก็ดี เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่อ่อนไหวอย่างมาก และตอกย้ำอีกครั้งถึงความซับซ้อนของความขัดแย้งหลายด้านในสถานการณ์ซีเรีย
การระเบิดสายการบินรัสเซียเมื่อเดือนที่แล้วที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในอียิปต์อ้างความรับผิดชอบ และการที่มอสโกระดมถล่มเป้าหมายไอเอส ดูเหมือนบ่งชี้ว่า รัสเซีย ตะวันตก และชาติอาหรับสายกลาง เริ่มปรับกลยุทธ์สอดคล้องกัน
กระนั้น ขณะที่รัสเซียโจมตีทางอากาศต่อที่มั่นของกองกำลังชาวเติร์กเมน มอสโกเท่ากับยังคงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดของซีเรีย ในการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านกลุ่มอื่นๆ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับแนวร่วมต่อสู้กวาดล้างไอเอสก็ตาม
ในทางกลับกัน ตุรกีเป็นศัตรูกับซีเรียมานานและต้องการเห็นอัสซาดพ้นจากอำนาจ ดังนั้น ในประเด็นนี้ อังการาจึงอยู่คนละฝั่งกับมอสโก
ตุรกีนั้นมีเดิมพันกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังสงครามกลางเมืองในซีเรีย เช่นเดียวกับอิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และชาติอาหรับสายกลางอื่นๆ ตลอดจนถึงรัสเซีย
สำหรับอเมริกาและตะวันตกไม่ชอบอัสซาดเอาเลย ซ้ำเห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นกับซีเรีย แต่กระนั้นเป้าหมายการรบหลักของกลุ่มนี้คือไอเอส
แม้สงครามสองด้านคือ การต่อสู้เพื่ออนาคตของซีเรียและการกำจัดไอเอสดูเหมือนทับซ้อนกันอย่างมาก แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่สงครามเดียวกัน
และการสอยเครื่องบินรบรัสเซียของตุรกีครั้งนี้เป็นเครื่องเตือนใจว่า ยังมีอะไรอีกมากมายนับจากนี้นอกเหนือจากแค่การรบรากับไอเอส