กสิกรฯ คาดส่งออกปีนี้ติดลบเกิน 4% ต่ำสุดในรอบ 6 ปี เผยสาเหตุหลักเกิดจาก ศก.จีน-ยุโรปยังชะลอตัว โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ระดับ 6.69% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมการส่งออกของไทยในปี 58 มีความเสี่ยงที่จะติดลบมากกว่าที่คาดไว้ในเดือนก่อนหน้าที่ประมาณร้อยละ 4.0 โดยความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงยุโรป และเอเชียในภาพรวม ตลอดจนการเคลื่อนไหวในระดับต่ำของราคาน้ำมัน และสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันจังหวะการฟื้นตัวของมูลค่าการส่งออกของไทยในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
“เท่ากับว่าไทยอาจบันทึกตัวเลขการส่งออกเป็นตัวเลขติดลบในทุกเดือนของปี 2558 ซึ่งจะมีผลทำให้ภาพรวมของการส่งออกในปีนี้หดตัวในระดับที่ลึกที่สุดในรอบ 6 ปี”
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือน ส.ค.58 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ที่ร้อยละ 6.69 (YoY) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แย่กว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ติดลบร้อยละ 3.0 (YoY) ขณะที่หากไม่นับรวมผลของการส่งออกทองคำที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 973.7 (YoY) ในเดือน ส.ค.แล้ว มูลค่าการส่งออกของไทยดิ่งลงถึงร้อยละ 10.5 (YoY) ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวรายเดือนที่มากที่สุดในรอบ 3 ปี
แม้การส่งออกรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย จะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แต่ก็เป็นผลมาจากการฟื้นตัวในส่วนของรถยนต์นั่ง ขณะที่การส่งออกรถกระบะ (ซึ่งมีสัดส่วนต่อการส่งออกในหมวดยานยนต์มากกว่า) ยังคงหดตัวลงจากผลของการปรับเปลี่ยนรุ่นรถ และการส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆ ยังได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวในระดับต่ำ ซึ่งทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่ายังคงไม่มีสัญญาณบวกที่สามารถหนุนการฟื้นตัวของภาพรวมการส่งออกได้อย่างชัดเจนมากนักในขณะนี้
สำหรับการส่งออกในเดือน ส.ค.58 หดตัวร้อยละ 6.69 (YoY) ซึ่งแย่กว่าที่คาดการณ์ไว้ค่อนข้างมาก โดยปัจจัยลบสำคัญยังคงมาจากสัญญาณที่อ่อนแอของกำลังซื้อในตลาดส่งออกหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ (-1.9% YoY) ญี่ปุ่น (-6.7% YoY) สหภาพยุโรป (-2.0% YoY) และอาเซียนเดิม 5 (-24.4% YoY) ขณะที่การส่งออกไปจีนนั้น แม้จะพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง แต่ก็เป็นอัตราการเพิ่มที่ไม่สูงมากนัก (+0.4% YoY)
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายสินค้าจะพบว่า สินค้า 5 อันดับแรก (ประกอบด้วย เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์) ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 48.8 ของมูลค่าการส่งออกไปจีนโดยรวม ยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องในเดือน ส.ค.58 โดยมีเพียงการส่งออกยางพาราเท่านั้นที่ยังขยายตัวได้
นอกจากนี้ ผลกระทบจากแรงฉุดทางด้านราคาต่อมูลค่าการส่งออกสินค้ายังมีภาพที่รุนแรงขึ้น โดยราคาสินค้าส่งออกของไทยปรับตัวลงถึงร้อยละ 3.1 (YoY) ในเดือน ส.ค.58 ซึ่งนับเป็นอัตราการลดลงรายเดือนที่มากที่สุดในรอบ 6 ปี และลดลงต่อเนื่องจากร้อยละ 2.5 (YoY) ในเดือน ก.ค.58
ทั้งนี้ นอกจากราคาสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องต่อน้ำมันดิบ หรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบที่มาจากการกลั่นปิโตรเลียม (เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก) จะได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ทรงตัวในระดับต่ำแล้ว
ดังนั้น คงต้องยอมรับว่าราคาสินค้าในกลุ่มเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมยังคงหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตามสภาวะการแข่งขันในตลาดโลก ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทก็อาจมีผลทางอ้อมทำให้ผู้ประกอบการในภาคการส่งออกไม่สามารถตั้งราคาสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐได้เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน