กสิกรไทยเตรียม 6 หมื่นล้าน ลุยปล่อยกู้เอสเอ็มอีช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เป็นกู้ซอต์ฟโลน 3 หมื่นล้าน แบงก์ปล่อยเพิ่ม 3 หมื่นล้าน หนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ คาดสินเชื่อทั้งปีโตได้ตามเป้า 5-6% ขณะที่เอ็นพีแอลทรงตัวไม่ถึง 3%
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) กล่าวว่า สถานการณ์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ขณะนี้ เท่าที่ทราบได้ลงพื้นที่พบปะกับลูกค้า พบว่า ผู้ประกอบการในกลุ่มค้าปลีกเริ่มมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นหลังจากปัญหาเรื่องสต๊อกสินค้าที่คาดการณ์ผิดพลาดเมื่อช่วงต้นปี ขณะที่กลุ่มเกษตรก็เริ่มที่จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังปัญหาภัยแล้งคลี่คลาย และกลุ่มท่องเที่ยวก็ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์มากอย่างที่หลายฝ่ายกังวล
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเอสเอ็มอีบางส่วนที่ยังประสบปัญหา และต้องการเงินทุนเพื่อเสริมสภาพคล่องอยู่ ซึ่งทางรัฐบาลก็ได้มีมาตรการออกมาช่วยเหลือ โดยให้วงเงินสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ 4-7% ซึ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยในส่วนของดอกเบี้ย และหลักประกัน ซึ่งธนาคารคาดว่าจะสามารถปล่อยกู้ได้ 30,000 ล้านบาท โดยก้อนแรก 2,000 ล้านบาท จะเข้าไปเพิ่มเติมในส่วนของเงินทุน และเสริมสภาพคล่องในรูปแบบบเงินกู้ หรือวงเงินเบิกเกินบัญชี (OD) วงเงินสูงสุด 30 ล้านบาทต่อราย อัตราดอกเบี้ยคงที่ต่ำสุด 4% นาน 6 เดือน ภายใน 31 ธันวาคมปีนี้
ท้้งนี้ โดยรวมในช่วงที่เหลือของปีนี้ ธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีได้อีก 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากเป็นไปตามนั้น ก็จะทำให้มียอดคงค้างสินเชื่อปีนี้เติบโตได้ 5-6% หรือมียอดคงค้างประมาณ 580,000 ล้านบาท จากสิ้นมิถุนายนที่มียอดคงค้าง 561,659 ล้านบาท เติบโต 4% ส่วนสินเชื่อปล่อยใหม่ทรงตัว หรือลดลงเล็กน้อย จากครึ่งปีแรกที่มียอด 138,591 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 7 เดือนแรกของปีมียอดสินเชื่อคืนค่อนข้างมากประมาณ 7%
ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก็ยังทรงตัวในระดับเดิม คือ ต่ำกว่า 3% โดยที่ผ่านมา ธนาคารได้เข้าช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอีที่มีประสบปัญหาคิดเป็นวงเงิน 140,000 ล้านบาท และ 94% ของวงเงินดังกล่าวยังไม่เป็นเอ็นพีแอล ซึ่งปัญหาของเอสเอ็มอีไม่ใช่มีแค่เรื่องเงินทุนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งต้องมีการเสริมความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคลัสเตอร์ หรือการเปลี่ยนถ่ายสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่ธนาคารก็ให้การสนับสนุนอยู่
“หลักเกณฑ์ในการปล่อยกู้นั้น ก็คงไม่ได้เข้มงวดหรือผ่อนคลายไปกว่าเดิม แต่ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และหลักประกันที่ต่ำลง จะจูงใจให้ผู้ประกอบมากู้เงินไปลงทุนมากขึ้น กลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนก็จะเข้ามาง่ายขึ้น เพราะปัญหาไม่ใช่แบงก์ไม่ปล่อยกู้เท่านั้น แต่ผู้ประกอบการก็ไม่รู้จะกู้ไปทำอะไร ในสภาวะแบบนี้ที่การจับจ่ายใช้สอยน้อยลง”