กสิกรฯ รับเอสเอ็มอีครึ่งปีหลังยังไม่สดใส เศรษฐกิจ-บริโภคยังไม่ฟื้น จัดมาตรการพักชำระเงินต้นตั้งแต่ 3-12 เดือนรองรับ หวังคุมเข้มเอ็นพีแอลสิ้นปีได้ที่ 3% กว่า ส่วนสินเชื่อตามเป้าหมายใหม่ที่ 5-6% ยังต้องลุ้น
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK)กล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังปี 2558 นี้ สถานการณ์ของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) คงจะยังไม่สดใสจากภาวะเศรษฐกิจและการอุปโภคบริโภคที่ยังชะลอตัวจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้สินเชื่อเอสเอ็มอีของเติบโตได้ไม่มากเช่นกัน โดยที่ผ่านมาก็ได้มีการปรับลดเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อเหลือ 5-6% จากเดิม 8-9% และในครึ่งปีแรกเติบโตได้ 4%
ด้านรายได้รวมตั้งเป้าเติบโต 8% จากเดิมที่ 9% แต่ก็คงจะเติบโตได้ไม่มากนัก เนื่องจากธุรกรรมต่างๆน้อยลง ขณะที่สินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ครึ่งปีแรก 2.9% และคาดว่า สิ้นปีน่าจะคุมให้อยู่ในระดับ 3% กว่าๆ ได้
“ปีนี้คงเป็นอีกปีที่ลำบากของเอสเอ็มอี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นมาจากการอุปโภคบริโภคที่หดตัวลงเพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงมากกว่าการส่งออกที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคเกษตรที่รายได้ลดลงอีก ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้จึงลดลงไปด้วย ขณะที่การปล่อยสินเชื่อก็เช่นกัน หากสถานการณ์แย่ลงไปกว่า ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่สินเชื่อจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย”
สำหรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้นั้น ธนาคารก็ได้ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการพักชำระเงินต้นเพื่อเป็นการเสริมสภาพคล่องให้ลูกหนี้ก็จะมีตั้งแต่ 3-12 เดือน ซึ่งปัจจุบันมีลูกหนี้ที่อยู่ในโครงการนี้ประมาณ 70,000-80,000 ล้านบาท มีลูกหนี้ที่มีปัญหาต้องเข้าโครงการเดือนละประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่มีปัญหามากก็จะเข้าสู่มาตรการขั้นต่อๆ ไป อาทิ การลดดอกเบี้ย หรือเข้าสู่โครงการปรับโครงสร้าง เป็นต้น
นายพัชรกล่าวอีกว่า จะถามว่ายอดลูกหนี้ที่เข้ามาในโครงการพักชำระเงินต้นมากขึ้นหรือไม่ ก็ค่อนข้างทรงตัวมาตั้งแต่ปีก่อน ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่เข้ามา แล้วก็ออกไปเมื่อครบกำหนด หรือเมื่อมีศักยภาพมากขึ้น แต่ส่วนที่ออกไปแล้วกลับเข้ามาก็มีเหมือนกัน ซึ่งสัดส่วนที่หมุนเวียนค่อนข้างใกล้เคียงกัน ทำให้ยอดตรงนี้ไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก
ทั้งนี้ ปัญหาของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น เกิดจากหลายๆ ปัจจัย โดยหลักๆ มาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ศักยภาพด้านการหารายได้ลดลง ซึ่งส่วนนี้หากมีหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการหารายได้ก็น่าผ่านพ้นปัญหาไปได้ แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการใช้เงินกู้ผิดวัตถุประสงค์ หรือคาดการณ์สถานการณ์ผิดทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นการสต๊อกสินค้า หรือลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้เกิดขาดสภาพคล่องในชำระหนี้ ซึ่งตรงนี้ก็คงต้องเข้าสู่โครงการต่างๆ ตามความเหมาะสม
“ผู้ประกอบการบางส่วนได้วงเงินโอดีไป ก็นำไปใช้ไม่ตรงวัตถุประสงค์บ้าง เราก็คุมไม่ได้ บางคนเอาไปซื้อที่ดินเพราะคิดว่าราคาจะขึ้นจะขายได้ในอีก 3 เดือนทันชำระหนี้ พอถึงเวลาไม่ได้ก็มีปัญหาขึ้นมา ถ้าจะถามว่าเขาตั้งใจโกงหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ แต่ต้องระวังในเรื่องนี้ เพราะวงเงินโอดีเบิกใช้ง่าย และมีสัดส่วนในพอร์ตอยู่ 2 ใน 3”