xs
xsm
sm
md
lg

ไอแบงก์แต่งตัวล้างขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้าน พร้อมดึงพันธมิตรใหม่ร่วมลงทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย มั่นใจดำเนินการตามแผนฟื้นฟูเสร็จปี 59 แยกหนี้เสียกว่า 4 หมื่นล้านบาทออกมาตั้งเอเอ็มซี ตามหนี้คืนให้ครบ เร่งแต่งตัวล้างขาดทุนสะสม 2 หมื่นล้าน เจราจาหาพันธมิตรร่วมลงทุนจบภายใน 6 เดือน คาดสัดส่วนถือหุ้นพันธมิตรน่าจะเกิน 50%

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานกรรมการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เปิดเผยว่า แนวทางการฟื้นฟูกิจการธนาคารได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) เพื่อศึกษากลยุทธ์และจัดทำแผนการแก้ไขปัญหากิจการ คือ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ MacQuarie จำกัด เพื่อดำเนินการหาพันธมิตรเข้ามาร่วมทุน คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการหาพันธมิตรประมาณ 3 เดือน และตรวจสอบทรัพย์สิน (Due Diligence) อีก 3 เดือน ซึ่งเชื่อว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2559 ธนาคารจะสามารถกลับมาเป็นสถาบันทางการเงินชั้นนำอีกครั้ง

ขณะนี้มีธนาคารชั้นนำหลายรายสนใจร่วมทุน ทั้งจากประเทศตะวันออกกลาง เอเชีย รวมถึงระดับชั้นนำของโลก โดยเฉพาะเงื่อนไขที่จูงใจให้การเข้ามาถือหุ้นที่มากกว่า 50% เพื่อมีอำนาจในการบริหารงาน และสามารถผลักดันให้ธนาคารขยายการทำธุรกิจไปต่างประเทศได้เหมือนธนาคารอิสลามชั้นนำอื่นๆ โดยผู้ร่วมทุนพร้อมที่จะลงทุนและนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อให้ธนาคารสามารถแข่งขันกับธนาคารพาณิชย์อื่นได้ รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมโยงธุรกิจฮาลาล ซึ่งผู้ร่วมทุนจะถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใดนั้นจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ Super Board

“ธนาคารได้หารือกับที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อหาแนวทางล้างขาดทุนสะสมจำนวน 2 หมื่นล้านบาท เพื่อเปิดทางให้พันมิตรเข้ามาถือหุ้น โดยจะมีอยู่ 2 แนวทาง คือ ให้พันธมิตรใส่เงินเข้ามา หรือกระทรวงคลังใส่เงินเข้ามาเพื่อล้างขาดทุนสะสม” นายชัยวัฒน์ กล่าว

สำหรับการแก้ไขปัญหาสินเชื่อของธนาคารได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจากการปรับโครงสร้างองค์กรตามแนวทางการฟื้นฟูกิจการ ส่งผลให้ธนาคารมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Non Performing Financing : NPFs) ล่าสุด อยู่ที่ 48,292 ล้านบาท หรือคิดเป็น 47% ของสินเชื่อคงค้าง ลดลงจากก่อนหน้าที่ 55,230 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ของสินเชื่อคงค้าง และมีหนี้ดีกว่า 50,000 ล้านบาท โดยธนาคารมีสินทรัพย์รวม 101,705 ล้านบาท โดยในส่วนของหนี้เสียกว่า 40,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาคัดแยกเพื่อไปจัดตั้งเป็นเอเอ็มซี เพื่อบริหารจัดการหนี้เสียโดยเฉพาะ และจะติดตามหนี้กลับมาให้ครบ

“หนี้ส่วนใหญ่นั้นไม่ใช่ลูกค้าชาวมุสลิม ขณะที่หนี้เสียของชาวมุสลิมมีอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งหนี้เหล่านี้จะไม่ถูกโอนไปเอเอ็มซี แต่จะถูกบริหารควบคู่ไปกับหนี้ดีของธนาคาร เพื่อให้เป็นตามพันธกิจของธนาคารตามหลักชะรีอะฮ์ เพื่อให้บริการแก่ชาวมุสลิม และการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต” ประธานกรรมการ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น