xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กทีเอ็มบีเผย บสย.ค้ำเพิ่มดันยอดเป็นหมื่นล. ต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บิ๊กทีเอ็มบีเผยมาตรการเพิ่มวงเงินค้ำประกัน บสย.จาก 18% เป็น 30% ช่วยเสริมสภาพคล่องให้เอสเอ็มอีได้ เหตุแบงก์รับความเสี่ยงได้เพิ่ม ปล่อยกู้ได้เพิ่ม คาดทำให้วงเงินค้ำฯ สินเชื่อต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้าน จากเดิม 6 พันล้าน

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (ทีเอ็มบี) กล่าวถึงมาตรการของรัฐที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลาง และย่อม (เอสเอ็มอี) โดยขยายวงเงินรับประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมการขนาดย่อย (บสย.) จาก 18% เป็น 30% นั้น จะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ขาดสภาพคล่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์จะสามารถปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้มากขึ้นตามสัดส่วนของการค้ำประกันที่มากขึ้น

โดยคาดว่าการขยายวงเงินค้ำประกันดังกล่าว จะทำให้วงเงินค้ำประกันเพิ่มขึ้นจาก 6,000 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 10,000 ล้านบาท ซึ่งจากวงเงินทั้งไว้ทั้งหมด 100,000 ล้านบาทก็น่าจะเพียงพอต่อความต้องการ

นายบุญทักษ์ กล่าวว่า จากปกติธนาคารพาณิชย์ก็มีการปล่อยกู้ให้กับเอสเอ็มอีอยู่แล้ว แต่อาจจะเป็นด้วยความความเข้มงวดที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน แต่เมื่อมีการค้ำประกันสินเชื่อสัดส่วนที่สูงขึ้น ธนาคารก็รองรับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น และทำให้มีเอสเอ็มอีได้รับสินเชื่อมากขึ้นด้วย ซึ่งสินเชื่อหมุนเวียนเพื่อเสริมสภาพคล่องถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นในสภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว เนื่องจากผู้ประกอบการบางรายยังสามารถดำเนินธุรกิจอยู่ได้ แต่อาจจะขาดสภาพคล่อง จากเหตุที่คู่ค้าขอยืดเครดิต ก็ทำให้กระทบกันได้ในระยะสั้นๆ

อย่างไรก็ตาม แม้กฎเกณฑ์ใหม่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ถ้าคิดเป็นยอดสินเชื่อคงขยายตัวไม่มากนัก เนื่องจากวงเงินต่อรายไม่สูง โดยคาดว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งระบบปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 6%

ส่วนกรณีเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำให้ธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยกู้ในวงเงินกู้ 1 แสนล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 4% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปีนั้น ตามเกณฑ์เบื้องต้น หากธนาคารพาณิชย์ต้องการ ก็สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับทางธนาคารออมสินได้ โดยไม่มีการแบ่งสัดส่วนตามจำนวนสินทรัพย์ หรือยอดคงค้างสินเชื่อแต่อย่างใด

“หากแบงก์อยากร่วมปล่อยด้วยก็ทำได้ แต่เท่าที่ดูน่าจะเหมาะกับลูกค้าแบงก์รัฐมากกว่า เพราะเป็นลูกค้ากลุ่มนี้มีความสามารถชำระหนี้ได้น้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเป้าหมายของแบงก์รัฐอยู่แล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น