ผู้ว่าการ ธปท. เผยจะนำธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาท แบบใหม่ออกใช้ 21 ส.ค.นี้ โดยมีการเพิ่มเทคโนโลยีป้องกันการปลอมแปลง ซึ่งธนบัตรเดิมยังคงใช้จ่ายได้ตามปกติ โดยคาดอีก 1-2 ปี ธนบัตรใหม่จะทดแทนธนบัตรเดิมได้หมด โดยล็อตแรกธนบัตรแบบใหม่จะพิมพ์ จำนวน 100 ล้านฉบับ
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท.จะนำธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทแบบใหม่ หรือแบบที่ 16 เพื่อทดแทนธนบัตรเก่าที่ใช้มานานถึง 10 ปีแล้ว ซึ่งธนบัตรนี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ที่ออกแบบธนบัตรแสดงถึงพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระองค์ รวมถึงยังทำเพื่อลดปัญหาการปลอมแปลงที่ทันสมัย และเพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน รวมถึงผู้บกพร่องทางสายตาได้ใช้ธนบัตรแบบใหม่ โดยจะมีแลกหมุนเวียนที่ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 นี้เป็นต้นไป ซึ่งธนบัตรเดิมยังคงใช้จ่ายได้ตามปกติ โดยคาดอีก 1-2 ปี ธนบัตรใหม่จะทดแทนธนบัตรเดิมได้หมด โดยล็อตแรกธนบัตรแบบใหม่จะพิมพ์ จำนวน 100 ล้านฉบับ
ทั้งนี้ ธนบัตรชนิดราคา 1,000 บาทแบบใหม่นั้น จะมีขนาดกว้าง 72 มิลลิเมตร ยาว 162 มิลลิเมตร สีโดยรวมเป็นสีน้ำตาล เช่นเดียวกับธนบัตรรุ่นเดิม โดยมีลักษณะพิเศษที่ต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญ คือ มีลายน้ำพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และตัวเลขไทย ๑๐๐๐ จะมีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นชัดทั้ง 2 ด้าน เมื่อยกขึ้นส่องแสงสว่าง หมึกพิมพ์พิเศษสลับสีพร้อมตัวเลขแฝง เป็นลายประดิษฐ์สีทองจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อพลิกธนบัตร
นอกจากนี้ ภายในธนบัตรยังมีตัวเลข ๑๐๐๐ ซ่อนอยู่ มีหมึกพิมพ์พิเศษเหลือบแดงในตัวเลข ๑๐๐๐ แถบฟอยล์ 3 มิติ ผนึกไว้ตามแนวตั้งในแถบตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ แถบสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวสลับสีฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะๆ หากพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กม่วงแดงเคลื่อนไหวอยู่ และสัญลักษณ์สำหรับผู้บกพร่องทางสายตาจะมีเส้นนูนแนวนอนเรียงลดหลั่นกัน นำสู่สัญลักษณ์อักษรเบรลล์ ที่พิมพ์นูนเป็นเลขดอกไม้ 4 ดอก แทนอักษร T ที่ย่อมาจากคำว่า Thousand